xs
xsm
sm
md
lg

สัญญา “หอศิลป์” ไม่มีให้ กทม.หนุนงบ มีแต่ต้องได้ค่าตอบแทน บอกเลิกสัญญามูลนิธิฯ ได้ทุกเมื่อ หากทำผิดเงื่อนไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สัญญาบริหาร “หอศิลป์” ไม่มีระบุให้ กทม. ต้องสนับสนุนงบประมาณ มีแต่ต้องได้ค่าตอบแทนทุกปี แต่ไม่เคยได้จากมูลนิธิฯ ชี้ หากบริหารไม่เป็นไปตามข้อตกลงมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ หรือหาก กทม. จำเป็นต้องใช้หอศิลป์ สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ต้องไม่เรียกค่าเสียหาย วงในเผยไม่เคยเห็นแผนงบประมาณ แผนยุทธศาสตร์บริหารจากมูลนิธิฯ

แหล่งข่าวในกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สร้างด้วยงบประมาณ 400 - 500 ล้านบาท อนุมัติโดยสภากรุงเทพมหานคร ถือเป็นทรัพย์สินของ กทม. ซึ่งมีการทำสัญญาการให้สิทธิระหว่าง กทม. และมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในการเข้ามาบริหาร ตั้งแต่ปี 2554 มีระยะเวลาสัญญา 10 ปี ผู้ลงนามในครั้งนั้น คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. และ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานมูลนิธิฯ ซึ่งรายละเอียดคร่าวๆ ของสัญญานั้น ในแง่การบริหารพบว่า 1. ผู้รับสิทธิต้องดำเนินการบริหารหอศิลป์ฯ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชน มุ่งเน้นให้การศึกษา พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ประชาชน 2. แสดงงานศิลปะร่วมสมัยภายในพื้นที่ให้เป็นที่ยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ มีนิทรรศการใหญ่ กลาง และเล็ก อย่างละ 1 ครั้งต่อปี 3. มีกิจกรรมกับใครก็ต้องมีสัญลักษณ์ของ กทม. 4. เมื่อ กทม. จะใช้พื้นที่เพื่อจัดงานศิลปวัฒนธรรมก็ต้องยอมและอำนวยความสะดวก คือ กทม. จะเข้าไปใช้เมื่อไรก็ได้ 5. ผู้รับสิทธิต้องจัดอบรมสัมมนาให้แก่บุคลากรไม่น้อยกว่า 2,000 คนต่อปี 6. ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมให้แก่บุคลากรและนักเรียนในสังกัด กทม. และ 7. ต้องจัดทำแผนบริหารหอศิลป์ฯ ทั้งแผนปฏิบัติการ แผนยุทธศาสตร์ แผนการจัดกิจกรรม จัดนิทรรศการ แผนการระดมทุนและรายได้ แผนการใช้งบประมาณ แผนประชาสัมพันธ์และการสร้างเครือข่าย ให้แก่ กทม. ทราบ ทุกปี แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยพบเห็น

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้รับสิทธิไม่สามารถโอนสิทธิบริหารให้คนอื่นได้ โดย กทม. สามารถตรวจสอบการดำเนินการได้ทุกเวลา ผู้รับสิทธิต้องดูแลทรัพย์สินให้ดี ทำประกันภัย วินาศภัยให้ กทม. หากข้าวของเสียหายต้องรับผิดชอบ กรณีจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ผู้รับสิทธิต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนลักษณะบังคับจากประชาชน แต่คนเอางานมาแสดงสามารถคิดค่าธรรมเนียมได้ ส่วนเงินรายได้นั้นผู้รับสิทธิสามารถนำไปใช้จ่ายภายในหอศิลป์ฯ หรือพัฒนาหอศิลป์ฯ ได้ ผู้รับสิทธิสามารถนำพื้นที่บางส่วนนำไปทำเชิงพาณิชย์หาผลประโยชน์ได้ เช่น พื้นที่ชั้นล่างที่นำไปให้เช่า ขณะที่ค่าธรรมเนียม ค่าภาษีต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องรับผิดชอบ

“ประเด็นสำคัญ คือ ผู้รับสิทธิยินยอมจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ให้สิทธิหรือ กทม.เป็นรายปี โดยผู้ให้สิทธิจะคิดคำนวณแล้วแจ้งให้ทราบภายใน มี.ค. ของทุกปี และแจ้งแล้วต้องชำระภายใน 30 วัน หลังรับแจ้ง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยจ่ายค่าตอบแทนตรงนี้ให้ กทม. เลย สำหรับการคำนวณอาจดูจากกิจกรรมมีอะไร รายได้อย่างไร แผนรายรับรายจ่ายเป็นอย่างไร แล้วจึงพิจารณาแจ้งได้ว่าควรต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ กทม.เท่าไร และกรณีผู้รับสิทธิบริหารไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ให้สิทธิสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที และถ้าผู้ให้สิทธิมีความเป็นจำต้องใช้หอศิลป์ฯ ก็สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า และผู้รับสิทธิต้องไม่เรียกร้องค่าเสียหาย กรณีบอกเลิกสัญญาถือว่าสิทธิครอบครองหอศิลป์ฯ หมดสิ้นทันที โดยไม่มีข้อหนึ่งข้อใดที่ระบุว่า กทม.จะต้องสนับสนุนงบประมาณเลย” แหล่งข่าวฯ กล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนที่สภา กทม. ไม่อนุมัติงบประมาณนั้น น่าจะเป็นเพราะไม่มีกฎระเบียบข้อใดที่ระบุว่าต้องให้งบ ซึ่งก็มีการตีความว่า มูลนิธิฯ เข้ามาบริหารโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. จึงไม่รู้ว่าจะใช้อำนาจอะไรในการอนุมัติงบประมาณ ดังนั้น ปีงบประมาณ 2561 แม้จะมีการเสนอของบประมาณเข้ามา สภา กทม. จึงไม่ได้อนุมัติงบประมาณลงไป จริงๆ แล้วหอศิลป์ฯ ต้องเป็นมากกว่าหอศิลป์ฯ หากดูจากตามสัญญาก็จะเห็นชัดว่าต้องทำเรื่องของการศึกษา ให้เป็นพื้นที่รองรับเยาวชน คนทุกกลุ่มวัยเข้ามาใช้งาน ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ก็อยากให้ใช้พื้นที่สมประโยชน์ที่สุด จึงอยากให้มีการพัฒนาพื้นที่เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาสำหรับเยาวชนด้วย

“จริงๆ แล้วผู้ที่รับสิทธิไปบริหารควรจะบริหารให้เกิดรายได้ โดยไม่ต้องพึ่งงบสนับสนุนจาก กทม. ด้วยซ้ำ เพราะไม่มีระเบียบข้อใดว่า กทม. ต้องสนับสนุนงบประมาณ การรับมอบสิทธิไปบริหารก็ต้องทำให้ดี สมมติหาก กทม. เปิดประมูลหาทีมมาบริหาร ก็ต้องหาทีมที่ทำได้ดีหรือดีกว่าสัญญา และมีแผนยุทธศาสตร์ แผนงบประมาณให้เห็นว่า พึ่งงบสนับสนุน กทม.น้อยที่สุด และควรบริหารให้เกิดค่าตอบแทนแก่ กทม. ด้วย เช่นนี้จึงควรได้ไปบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่แน่ใจว่า มูลนิธิฯ เคยมีการเสนอแผนต่างๆ เหล่านี้ให้ กทม. หรือไม่ เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ไม่เคยเห็น ซึ่งเรื่องนี้เชื่อว่า สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ควรจะต้องมีคำตอบ” แหล่งข่าว กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น