มธ. ร่วมมือเอกชน ยกเลิกใช้ “พลาสติก” ครั้งเดียวทิ้งในร้านสะดวกซื้อ ตั้งเป้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกเป็น “ศูนย์” ชูยกเลิกให้บริการถุงพลาสติก จำกัดการให้ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติก ยกเลิกจำหน่ายน้ำดื่มมีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอดที่มีถุงพลาสติกหุ้ม และยกเลิกรับร้องเรียนพนักงานไม่ให้ถุงพลาสติก
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัญหาปริมาณขยะเป็นปัญหาที่ทั่วโลกควรให้การใส่ใจและร่วมมือกันคลี่คลาย เพราะแต่ละปีมนุษย์ทั่วโลกสร้างขยะมูลฝอยมากกว่า 1,200 ล้านตัน จากสถิติปี 2558 ของประเทศไทย พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมราว 26.85 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 31 ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง และมีร้อยละ 19 ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งสถานที่กำจัดขยะในประเทศไทยในปี 2559 มี 2,810 แห่ง แต่มีเพียง 330 แห่งเท่านั้นที่กำจัดขยะได้อย่างถูกวิธี ในส่วนของจังหวัดปทุมธานีมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 600,000 ตันต่อปี ซึ่งเกินความสามารถในการรองรับของสถานที่กำจัดขยะในจังหวัด จึงต้องส่งกำจัดในจังหวัดใกล้เคียง ส่วนของ มธ. รังสิต มีประชากรราว 40,000 คน สร้างขยะราว 2,400 ตันต่อปี สามารถคัดแยกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เพียงร้อยละ 30 โดยเฉพาะอัตราการใช้ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อที่สูงถึง 6,500,000 ใบต่อปี
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว (NO MORE SINGLE USE PLASTIC) เพื่อการลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste Campus) จากความร่วมมือภาคเอกชนที่ประกอบกิจการค้าปลีกในมหาวิทยาลัย ได้แก่ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น บริษัท สหลอว์สัน จำกัด เจ้าของร้าน ลอว์สัน 108 และ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เจ้าของร้าน ท็อปส์เดลี่ มินิซุปเปอร์มาร์เก็ต ในการเปลี่ยนพฤติกรรมประชากรในธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้มีการใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อเป็น “ศูนย์” และลดปริมาณการผลิตขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ความร่วมมือนี้ มธ. ได้นำเสนอ 5 มาตรการ ได้แก่ 1. ยกเลิกการให้บริการถุงพลาสติกในทุกสาขาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เว้นเฉพาะ ถุงสำหรับใส่ของร้อนพร้อมทานเท่านั้น ยกเว้นสาขาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จะยังมีถุงพลาสติกให้บริการควบคู่ไปกับการใช้วิธีการรณรงค์ที่เหมาะสม เนื่องจากมีบุคคลภายนอกใช้บริการเป็นส่วนใหญ่ 2. จำกัดการให้ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติก โดยให้บริการเมื่อผู้ใช้บริการร้องขอเท่านั้น 3. ยกเลิกจำหน่ายน้ำดื่มที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด 4.ยกเลิกการให้บริการหลอดที่มีถุงพลาสติกหุ้ม 5. ยกเลิกการรับร้องเรียนกรณีพนักงานไม่ให้ถุงพลาสติก ที่มาจากการใช้บริการร้านสาขาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพนักงานของร้านที่ถูกร้องเรียน เพราะเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มธ. ยังได้ทำความร่วมมือกับศูนย์อาหารต่างๆ ภายในเขตมหาวิทยาลัย ให้เลิกการใช้แก้วพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถลดการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้ราว 90,000 ใบต่อเดือน
“ที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ได้ดำเนินโครงการลดใช้พลาสติกในหลากรูปแบบ ตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2560 โดยมุ่งเน้นการลดใช้ช้อน ส้อมพลาสติก หลอดพลาสติกและถุงพลาสติก พบว่าสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์จากปี 2559 หรือราว 1,800,000 ใบ ตลอดจนยังได้ดำเนินการตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว มุ้งเน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาในเรื่องการยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University) โดยมีแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การดำเนินการเปิดตัว “โซลาร์ไรด์” (SOLARYDE) โครงการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าและแสงอาทิตย์ และสถานีชาร์จไฟจากพลังงานโซลาร์เซลล์ ภายในมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ การลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์จากบริการขนส่งสาธารณะ (Zero Carbon Transportation) โดยการใช้พลังงานสะอาดทดแทน เพื่อเป็นการลดมลพิษให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นการประหยัดการใช้พลังงานให้กับประเทศชาติ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว