กาญจนบุรี - ประธานที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยฯ เชิงเขาทอง จ.กาญจนบุรี เผย 1 ปีที่ผ่านมา สามารถกำจัดขยะได้ถึง 4 แสนตัน จาก 1 ล้านตัน ส่วนที่เหลือทั้งเก่าใหม่พร้อมรีไซเคิลผลิตเป็นเม็ดพลาสติก สู่เศรษฐกิจชุมชน ส่วนในอนาคตวางแนวทางสู่โรงไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมือง
พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ประธานที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างประชาชน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เกิดขึ้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้แก่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในเรื่องการบุกรุกพื้นที่ เพราะปัจจุบัน พื้นที่ทิ้งขยะนั้นใช้บริเวณเชิงเขาทอง หมู่ 5 ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จำนวน 100 ไร่
โดยจากแผนงานของจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับคำสั่งจาก คสช.ที่ 1/2557 ในเรื่องของการกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งจังหวัดก็ได้ทำแผนงานต่างๆ โดยสรุปว่า ขยะมูลฝอยของจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2557 อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 600 ตันต่อวัน ซึ่งไม่สามารถนำไปทิ้งที่อื่นได้ จึงประสานไปที่ พล.1 รอ. ให้ตำบลแก่งเสี้ยน เป็นที่รวบรวมทิ้งขยะไปก่อน จำนวน 100 ไร่ ก่อนจะมีโครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างประชาชน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมา
โดยที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนที่อยู่ข้างเคียง ถึงแม้จะเป็นที่ดินที่ถูกต้องก็ตาม ซึ่งหากในอนาคตมีการปิดบ่อขยะเชิงเขาทอง จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรีทั้งหมด เพราะไม่สามารถหาที่ดินได้ดำเนินต่อขยะได้
ปัจจุบัน มีการแก้ไขปัญหา โดยขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ก็ได้นำเอาไปกำจัดที่อื่น ด้วยการนำไปขายให้แก่บริษัทที่เกี่ยวต่อการผลิตปูนซีเมนต์รวม 2 บริษัท ซึ่งขายได้ในราคาตันละ 1,000-1,200 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายจะเหลือประมาณ 800 บาท ซึ่งเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าวก็จะนำไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ และค่าเสื่อมของอุปกรณ์
นอกจากนั้น มีการก่อสร้างอาคารขึ้นมาภายในพื้นที่ของโครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำศูนย์เรียนรู้ และรีไซเคิลขยะเพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะขึ้นมา และในอนาคตอาจหลอมขยะเพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติก และกลายเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพจากขยะมูลฝอยดังกล่าว
พล.อ.สมชาย กล่าวว่า จากแนวคิดดังกล่าว พบว่า ขยะมูลฝอยที่เคยมีอยู่ 1 ล้านกว่าตัน ใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ ทำให้ขยะเก่าลดลงไปประมาณ 4 แสนตัน เหลืออยู่ประมาณ 6 แสนตัน และมีขยะใหม่เข้ามาประมาณวันละ 100 กว่าตัน โดยพยายามนำขยะเก่า และขยะใหม่มารวมกันเพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกออกไปให้มากที่สุด จึงคาดคิดว่าภายในเวลา 5 ปี จะทำให้กองขยะนี้หมดไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดออกมา และนโยบายในเรื่องของการแก้ปัญหาขยะของ คสช. โดยวิธีการฝังกลบนั้น ในอนาคตหากไม่สามารถดำเนินการได้ต่อไป ทำได้เพียงการเผา แต่จะต้องมีการเผาที่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา โดยจากการศึกษาคือ การสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โดยล่าสุด ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ ร่วมกับทางจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำประชาวิจารณ์เพื่อทราบถึงแนวทางที่จะดำเนินงานต่อไปในอนาคต