xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตรียมวางรางคู่-ขยายชานชาลา “บีทีเอสตากสิน” แก้ปัญหาคอขวด ไม่ยุบสถานี คาด 3 ปีเสร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. เล็งวางรางคู่ - ขยายชานชาลา “บีทีเอสตากสิน” แก้ปัญหาคอขวด คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ไม่ยุบสถานีทิ้ง เชื่อร่นเวลาเดินทางจาก 4.30 นาที เหลือ 2.30 นาที จำนวนเที่ยวเพิ่มขึ้น เดินทางสะดวก พร้อมหารือกรมทางหลวงชนบท เหตุกินพื้นที่สะพานสาทรข้างละ 1.8 เมตร ยาว 260 เมตร

วันนี้ (8 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่โครงการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าสายสีลม สถานีสะพานตากสิน (S6) และการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ยุทธศาสตร์ “มหานครสีเขียว สะดวกสบาย” ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตบางรัก สำนักงานเขตสาทร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและร่วมลงพื้นที่ ณ บริเวณสถานีสะพานตากสิน

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่โครงการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าสายสีลม บริเวณสถานีสะพานตากสิน เพื่อพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง โดยปรับเปลี่ยนสถานีให้เป็นรางคู่และขยายชานชาลาสถานี ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีรางเดียว ทำให้รถไฟฟ้าไม่สามารถวิ่งสวนกันได้ ซึ่งขณะเดียวกัน สำนักการจราจรและขนส่งได้มีโครงการก่อสร้างรางคู่ ซึ่งในการก่อสร้างมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงชนบท คือ บริเวณช่องจราจรบนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยจะทำให้ช่องจราจรทั้ง 2 ฝั่ง หายไปฝั่งละ 1.80 ม. ซึ่งขณะนี้สำนักการจราจรและขนส่งได้มอบหมายให้บีทีเอสออกแบบไว้หมดแล้ว

“เบื้องต้นกรมทางหลวงชนบทไม่ขัดข้องที่ กทม. จะก่อสร้างรางคู่บริเวณสถานีสะพานตากสิน ซึ่ง กทม. ได้ให้สัมปทานแก่บีทีเอสในโครงการก่อสร้างดังกล่าว โดยจะมีการหารือกับทางบีทีเอสเกี่ยวกับรายละเอียดเงื่อนไขในการก่อสร้าง เพื่อให้กรมทางหลวงชนบทอนุญาตต่อไป ซึ่งการก่อสร้างจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อการก่อสร้างรางคู่แล้วเสร็จ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินรถและไม่เสียเวลาในการรอซึ่งการเดินรถจากสถานีกรุงธนบุรีถึงสถานีสะพานตากสิน จากเดิมจะใช้เวลา 4.30 นาที เป็น 2.30 นาที ทำให้จำนวนเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้น ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งรายได้จากค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นด้วย” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า การก่อสร้างจะต้องใช้บริเวณช่องจราจรบนสะพานสาทรทั้ง 2 ฝั่งๆ ละ 1.80 ม. กรุงเทพมหานครจึงต้องขยายสะพานออกไปฝั่งละ 1.80 ม.ระยะทางประมาณ 230 ม. เพื่อให้ช่องจราจรมีความกว้างเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการก่อสร้างรางคู่บริเวณสถานีตากสิน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี สำนักการจราจรและขนส่งยังไม่ยกเลิกการให้บริการบริเวณสถานีตากสิน ประชาชนสามารถมาใช้บริการรถไฟฟ้าได้ตามปกติ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องรื้อสถานีตากสินออก เพื่อก่อสร้างรางคู่พร้อมกันการก่อสร้างก็จะเสร็จเร็วขึ้น คาดว่า จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี








กำลังโหลดความคิดเห็น