xs
xsm
sm
md
lg

สอศ.จับมือ KOSEN ผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สอศ. จับมือ KOSEN จัดหลักสูตร 5 ปี ใน 2 สาขา “วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ - วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์” ผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ ป้อนภาคอุตสาหกรรม

วันนี้ (3 พ.ค.) นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ สถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อเนื่อง 5 ปี ตามมาตรฐาน KOSEN เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักสูตรภายใต้โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับภาคอุตสาหกรรม และการปฏิรูปการศึกษาไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยในปีการศึกษา 2561 นี้ สอศ. ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเรียนหลักสูตรมาตรฐาน KOSEN 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สาขางานหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม) จำนวน 20 คน จัดการเรียนการสอนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (สาขางานเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์) จำนวน 20 คน จัดการเรียนการสอนที่วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ ได้เปิดสอบและคัดเลือกนักเรียนที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของสถาบัน KOSEN เสร็จเรียบร้อยแล้ว

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า จากการลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สอศ. กับ National Institute of Technology (NIT) สถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนช่วยเหลือ และสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ เช่น การแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากร นักเรียน นักศึกษา และ งานศึกษาวิจัย จึงเกิดการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐานโคเซ็น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอน อาทิ การอบรมพัฒนาครูตามมาตรฐานโคเซ็น การสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบ WIL (Work Integrated Learning ) ที่มีความเข้มข้น และการจัดเตรียมครุภัณฑ์พื้นฐานให้สอดคล้องกับหลักสูตร โดยมี Dr. Matsumoto Tsutomo ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ไทย -ญี่ปุ่น โคเซ็น (Japanese - Thai KOSEN Institute of Engineering and Technology) เป็นผู้ให้คำแนะนำ

“สอศ. ตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะผลิตช่างฝีมือคุณภาพ ที่มีทักษะความรู้ความสามารถได้มาตรฐานระดับสากล และตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 มั่นใจว่านักศึกษาเหล่านี้เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าวุฒิ รวมทั้งมีแผนสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับสูงเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์สอนอาชีวะอีกด้วย” เลขาธิการ สอศ. กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษาหน้ามีแผนขยายรับนักศึกษา 2 หลักสูตรนี้ สาขาวิชาละ 40 คน

นายทานิคูชิ อิสะ ประธานสถาบันโคเช็น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า จัดหลักสูตรการเรียนการสอนเหมือนของญี่ปุ่น เน้นวิชาการ ปฏิบัติ รวมทั้งกระตุ้นให้นักศึกษาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพราะฉะนั้นนักศึกษาจะมีพัฒนาการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แน่นอนเมื่อเรียนจบหลักสูตรเขาจะมีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญ มีคุณสมบัติเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม และมีรายได้สูงกว่าวุฒิการศึกษา สำหรับการสตาร์ทเงินเดือนนั้นอย่างบริษัทในญี่ปุ่น จะวัดทักษะความรู้ความสามารถเป็นหลัก ดังนั้น เชื่อว่านักศึกษาที่เรียน 2 สาขานี้ในประเทศไทย เมื่อเรียนจบก็จะได้รับเงินเดือนสูงเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นมาตั้งอยู่ในประเทศไทยราว 7 พันบริษัท

ด้าน นายนพพร พุ่มฤทธิ์ นักศึกษาชั้น ปวช.1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) กล่าวว่า ตนเป็น 1 ใน 20 คน ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะสมัครสอบ ได้เข้าไปดูรายละเอียดของหลักสูตร ที่จะเน้นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฝึกปฏิบัติ ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ผมชอบวิทย์ คณิต ชอบจินตนาการ ลงมือทำโน่นทำนี่ ถ้าได้เรียนหลักสูตรนี้ผมมั่นใจว่าพัฒนาการของผมจะรุดหน้า อีกอย่างผมตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า โตขึ้นอยากเป็น “วิศวะ”



กำลังโหลดความคิดเห็น