พิษณุโลก - สุดยอดมาก.. นักศึกษา-อาจารย์สารพัดช่างเมืองสองแควคิดค้นระบบช่วยเหลือเปิดกระจกอัตโนมัติหากรถตกน้ำ ค่าติดตั้งไม่กี่พัน-ช่วยชีวิตคนได้จริง การันตีรางวัลระดับประเทศ เตรียมยื่นจดสิทธิบัตร
วันนี้ (22 มี.ค.) นายพิษณุ รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก พร้อมคณะครู และนักศึกษา ได้นำผู้สื่อข่าวเข้าชม “ระบบช่วยเหลือเปิดกระจกรถอัตโนมัติเมื่อรถตกน้ำ” ผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประเภทการป้องกันภัยส่วนบุคคล ณ วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก ต.บ้านคลอง อ.เมืองพิษณุโลก
นายพิษณุบอกว่า รถยนต์ทั่วไปเมื่อตกน้ำแล้วระบบกระจกแบบไฟฟ้าจะใช้งานไม่ได้ แต่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ทำให้ลดการสูญเสียชีวิต เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตกน้ำสามารถใช้งานได้จริง ผู้ขับขี่สามารถเปิดสวิตช์สั่งการให้ระบบทำงาน ใช้วิธีเซ็นเซอร์ตรวจจับความชื้น เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุหากพบความชื้นบริเวณเซ็นเซอร์ระบบจะทำการเปิดกระจกรถยนต์อัตโนมัติทันที
ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลกกล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นผลงานที่นายธีรพัฒน์ มิ่งภูษา นายณรงค์เดช คุ้มฉาย น.ส.อริสยาภรณ์ เชียงไตร อาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกันคิดค้นประดิษฐ์กับกลุ่มนักศึกษาชั้น ปวส.และนักศึกษาชั้น ปวช.จำนวน 8 คน คือ นายจีราวุฒิ สุขเกษม, นายจิรายุทธ สุขเกษม, นายปวีร์ แก้วแจ้ง, นายนพรัตน์ ตลับเงิน, นายพันธ์ณรงค์ จันทร์พร, นายพนมพร สุรเดช, นายสรุเดช พลับน้อย และนายปรัชญา เถื่อนทิม
ทั้งหมดใช้ระยะเวลาในการคิดค้นประมาณ 3 เดือน ก่อนจะนำผลงานชิ้นดังกล่าวส่งเข้าประกวดในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ จนได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2560 ซึ่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระดำเนินทรงเป็นองค์ประธานประทานโล่รางวัล และทอดพระเนตรผลงานสิ่งประดิษฐ์ ณ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา
นายจีราวุฒิ สุขเกษม นักศึกษา ปวส. ชั้นปีที่ 2 กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นการคิดค้นร่วมกันระหว่างช่างอิเล็กทรอนิกส์กับช่างไฟฟ้า โดยผู้อำนวยการฯ ให้โจทย์ว่าปัจจุบันมีอุบัติเหตุที่เกิดจากรถยนต์ตกน้ำและมีผู้เสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง จึงอยากให้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยชีวิตคนได้อย่างทันท่วงทีและมีราคาไม่แพง
ขั้นตอนแรก คือ 1. สำรวจระบบไฟฟ้ารถยนต์ 2. ติดตั้งกล่องควบคุมระบบช่วยเหลือเปิดกระจกอัตโนมัติเมื่อรถตกน้ำ 3. การเดินสายไฟฟ้า 12 โวลต์เข้าแบตเตอรี่ 4. ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ 5. ติดตั้งสวิตช์ฉุกเฉิน 6. ทดสอบการใช้งานระบบเซ็นเซอร์ โดยมีกล่องควบคุมวงจรทั้งหมดที่ทำหน้าที่สั่งงานวงจรควบคุมให้เปิดกระจกรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์แบบ 2 ประตู หรือแบบ 4 ประตู ทั้งกระจกหน้า กระจกหลัง ใช้ระยะเวลาเปิดกระจกแค่เพียง 7 วินาทีเท่านั้นเพื่อนำตัวรอดออกมานอกรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถตกน้ำ ซึ่งหากไม่ได้ติดตั้งระบบนี้กระจกไฟฟ้าอาจไม่ทำงาน-ล็อกทันที ทำให้ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารจมน้ำเสียชีวิต
ที่ผ่านมาได้พัฒนาแล้ว 3 เวอร์ชัน ทำให้มีการติดตั้งร่วมกับระบบไฟกะพริบและระบบเสียง ซึ่งหากไปประสบอุบัติเหตุยามค่ำคืน ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาก็จะได้ยินและสังเกตเห็น และสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที ส่วนค่าติดตั้งพร้อมอุปกรณ์ 2,500-3,500 บาท ล่าสุดมีบริษัทเอกชนติดต่อสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก หากใครสนใจติดต่อได้ที่วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก