xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงจับมือ ว.เทคนิคตรัง ทำ “กรวยยางพาราอัจฉริยะ” สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - วิทยาลัยเทคนิคตรัง ทำ MOU ร่วมกับสำนักงานทางหลวงที่ 17 เพื่อวิจัย “กรวยยางพาราอัจฉริยะ” สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ที่มีความยืดหยุ่นสูง คงทนแข็งแรง ใช้งานได้ยาวนาน และมีความปลอดภัยมากขึ้น

วันนี้ (8 มี.ค.) วิทยาลัยเทคนิคตรัง โดยแผนกเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ร่วมกับสำนักงานทางหลวงที่ 17 และบริษัท ว.รณภูมิ จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อจัดทำโครงการวิจัยกรวยยางพาราอัจฉริยะ สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ซึ่งเกิดขึ้นจากการนำวัตถุดิบ คือ ยางพาราที่หาได้ง่ายในจังหวัด และชุมชน มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กรวยจราจรจากยางพารา (Rubber cone genius) แทนการใช้กรวยจราจรพลาสติกแบบเดิมๆ โดยมีจุดเด่นตรงที่วัสดุเหล่านี้เมื่อโดนชนหรือโดนกระแทกก็จะไม่แตกเสียหาย และคืนกลับสู่สภาพเดิม จึงช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดกับรถ และยังเป็นการยืดอายุการใช้งานของกรวยจราจรอีกด้วย
 

 
นายเจษฎา ธนะสถิตย์ ผู้ช่วย ผอ.วิทยาลัยเทคนิคตรัง กล่าวว่า เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของคนภาคใต้ โดยเฉพาะใน จ.ตรัง ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของยางพารา แต่ปัจจุบันมีราคาตกต่ำลงมาเรื่อยๆ ส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านครอบครัว และการส่งบุตรหลานเรียนหนังสือ ทางวิทยาลัยจึงได้คิดค้นผลิตภัณฑ์กรวยจราจรจากยางพาราขึ้น เพื่อส่งเสริมเกษตรกร และเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ผู้ปกครอง ประกอบกับปัจจุบันการใช้ยางพาราภายในประเทศก็มีน้อย ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังนิยมการใช้พลาสติก ทั้งๆ ที่วัสดุเหล่านี้ย่อยสลายยาก และยังเป็นมลพิษต่อสภาพแวดล้อม
 

 
สำหรับกรวยพลาสติกในท้องตลาดทั่วไปจะมีราคาตั้งแต่ชิ้นละ 200-1,000 บาท แล้วแต่คุณภาพ ส่วนกรวยยางพาราอัจฉริยะจะมีต้นทุนประมาณชิ้นละ 250 บาท ซึ่งแต่ละกรวยจะใช้น้ำยางคอมปาวด์ 1 กิโลกรัมครึ่ง แล้วนำมาหล่อขึ้นรูปรวมจำนวน 6 ครั้ง เพื่อให้ได้กรวยที่มีความหนาที่พอดีที่สุด เนื่องจากเมื่อโดนรถชนแล้วจะสามารถเด้งกลับสู่สภาพเดิม หรือกลับมาตั้งตรงแบบเดิมได้ รวมทั้งยังรองรับอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 0-40 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมต่อสภาพอากาศทั่วไปในเมืองไทย ถือเป็นความสำเร็จอีกชิ้นหนึ่งของแผนกเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง
 

 
นายสมัคร เลือดวงหัด ผอ.แขวงทางหลวงตรัง กล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่องกรวยยางพาราอัจฉริยะ นับเป็นการตอบโจทย์ และตอบสนองต่อนโยบายของกรมทางหลวงในอนาคต เพื่อนำไปสู่การผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในงานจราจร หรืองานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ จากยางพารา เช่น หลักนำทาง ขอบทาง กั้นเกาะกลาง แท่งแบริเออร์ เพื่อเปลี่ยนช่องทางการจราจร กีดขวางทางเข้าออกของรถ บังคับช่องทางการเดินรถ หรือป้องกันพื้นที่อันตรายต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูง แต่คงทนแข็งแรง ใช้งานได้ยาวนาน และมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการใช้ยางพาราในท้องถิ่นด้วย
 



กำลังโหลดความคิดเห็น