กรมทางหลวงชนบทใช้ยางพาราก่อสร้างและซ่อมถนนในปี 61 เพิ่มอีกกว่าหมื่นตัน ชงของบกลางเพิ่ม 5 พันล้านจากที่ได้งบแล้ว 1 หมื่นตัน ทำให้ยอดรวมทั้งปีใช้น้ำยางพาราดิบรวมกว่า 2 หมื่นตันกระจายลง 1,340 โครงการทั่วประเทศ หนุนการใช้ยางพาราในประเทศช่วยเกษตรกรตามนโยบาย ส่วนถนนสามารถรับน้ำหนักได้เพิ่ม ต้านทานการแตกร้าว และการลื่นไถลได้ดีกว่า
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในงานทางเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกร ซึ่งในส่วนของ ทช.ได้มีการวิจัยและพัฒนางานทาง เพื่อสนับสนุนการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงถนน โดยในปี 2561 สามารถนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการก่อสร้าง งานซ่อมบำรุง งานอำนวยความปลอดภัย เป็นปริมาณยางดิบ จำนวน 10,202 ตัน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางพาราในปี 2561 เพิ่มขึ้นอีก 10,060 ตัน เป็นยางแห้งประมาณ 5,000 ตัน และน้ำยางสดประมาณ 10,000 ตัน โดยจะดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณกลางปีดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนนี้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท
ทำให้ในปี 2561 ทช.จะใช้น้ำยางพาราดิบรวม 20,262 ตันเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ รวม 1,340 โครงการ ส่วนปี 2562 เป้าหมายในการใช้ปริมาณยางพาราไม่น้อยกว่าปี 2561 โดยจะต้องรอการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2562 ก่อน ซึ่งได้เสนอกรอบไปที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จากนั้นจึงจะสามารถจัดสรรตามความเหมาะสมต่อไป
การนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนนั้น จะช่วยทำให้ถนนสามารถรับน้ำหนักจราจรได้สูงกว่า มีความต้านทานการเกิดร่องล้อได้ดี มีความต้านทานการแตกร้าวจากความล้าสูง เพิ่มความฝืดเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย ต้านทานการลื่นไถลได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และรักษาเสถียรภาพของราคายางพาราภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับปี 2561 ทช.ได้รับงบประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในงานด้านปรับปรุง บูรณะ และความปลอดภัยถนนนั้นจะมีการยกระดับมาตรฐานชั้นทางเพื่อเพิ่มเขตทางของถนน จากเดิมที่เป็นถนนมาตรฐานชั้น 4 คือ มีผิวจราจรกว้าง 6 เมตร ไหล่ทางข้างละ1 เมตร รวมเป็น 8 เมตร โดยจะปรับเป็นมาตรฐานชั้น 3 และชั้น 2 ซึ่งจะขยายไหล่ทางให้กว้างขึ้น ซึ่งจะดำเนินการในถนนที่ไม่มีปัญหาเรื่องเขตทาง