พัทลุง - ชาวบ้านพัทลุงเริ่มลงมือเพาะชำพืชผักเตรียมลงปลูกหลังน้ำเริ่มลดลง ขณะที่บางรายเริ่มลงมือเปิดกรีดยางพาราเป็นวันแรกแล้ว
วันนี้ (29 ม.ค.) ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ต.พะนางตุง อ.ควนขนุน และชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง เร่งเพาะชำพริก มะเขือ และผักสวนครัวอื่นๆ เอาไว้ เพื่อรอวันน้ำที่ท่วมขังลดลงแล้วทำการปลูกพืชระยะสั้นสร้างรายได้ หลังจากก่อนหน้านี้ ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพปลูกผักส่งขายเป็นแหล่งใหญ่ของจังหวัด โดยพืชผักที่ได้จะส่งขายในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และส่งไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งสร้างรายได้หลักให้แก่ชาวบ้านที่นี่มานาน แต่ผักที่ปลูกไว้รอบก่อนกำลังเก็บผลผลิตถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย จึงเร่งเพาะพันธุ์ขึ้นมาใหม่หวังว่าอีกประมาณ 1 เดือนระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งหากจะซื้อพันธุ์ที่มีการเพาะขายต้องลงทุนมาก จึงหันมาเพาะเอง
โดย นางกาญจนา ทองเต็ม อายุ 50 ปี ชาวบ้าน หมู่ที่ 4 ต.พะนางตุง อ.ควนขนุน กล่าวว่า ทุกปีในช่วงนี้ชาวบ้านที่นี่จะได้เก็บพริก และพืชผักส่งขายแล้ว แต่ปีนี้พืชผักที่ปลูกไว้กลับจมน้ำได้รับความเสียหายจนไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และกว่าน้ำจะลดเข้าสู่สภาวะปกติ จึงได้เตรียมพันธุ์พริกพันธุ์ผักไว้ลงปลูกใหม่อีกรอบ เพื่อสร้างรายได้กลับมาชดเชยในส่วนที่ขาดหาย
ในขณะที่เกษตรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ที่ได้หยุดกรีดมานานเกือบ 3 เดือน ในวันนี้หลังฝนหยุดตก และมีแสงแดดเริ่มเปิดหน้ายางใหม่อีกครั้ง เพื่อหวังที่จะรีบขายเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แม้บางรายสวนยางพาราจะมีน้ำท่วมขังแต่ก็จำเป็นต้องกรีดเพราะไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บวกกับราคาน้ำยางพาราในช่วงนี้มีราคาที่สูงขึ้นจากเมื่อวาน ที่จุดรับซื้อเปิดรับกิโลกรัมละ 88 บาท แต่ในวันนี้ราคาเพิ่มขึ้นเปิดรับซื้อที่กิโลกรัมละ 90 บาท จึงเป็นความหวังของชาวสวนยางพัทลุงที่ต้องแร่งเปิดกรีด ก่อนยางพาราจะผลัดใบช่วงเดือนเมษายนที่จะถึง
สำหรับยางพาราในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ถือเป็นรายได้หลักของเกษตรกรที่นี่ และช่วงที่ฝนตกหนักน้ำท่วมมานาน 2 เดือนเต็ม ทำให้รายได้จากยางพาราที่หายไปจากตลาดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท