xs
xsm
sm
md
lg

ก.ศึกษาฯ นำสิ่งประดิษฐ์อาชีวะจับคู่ธุรกิจ พท.EEC สู่ธุรกิจจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงศึกษาธิการร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจภาคตะวันออกและ EEC โดยการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Matching) ด้วยการนำผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาที่ได้รับรางวัลระดับภาค ปี 2559 และปี 2560 จำนวน 120 ชิ้นงานมาจัดแสดงเพื่อเข้าสู่ระบบธุรกิจจริง

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับหน้าที่กำกับดูแลอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาฯ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา โดยนำระบบ Big Data ให้อาชีวศึกษาประสานข้อมูลกับบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการ ตลอดจนการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อให้ตรงต่อความต้องการ ซึ่งเปิดไปแล้ว 2 แห่ง คือ ภาคใต้ชายแดน และภาคตะวันออก และจะดำเนินการให้ครบอีก 4 ภาคทั่วประเทศในเร็วๆ นี้

นอกจากนั้นยังขับเคลื่อนให้มีผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อการสร้างงานและกำลังคนที่มีทักษะฝีมือรองรับความต้องการที่ประสบภาวะขาดแคลน โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณและคุณภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ที่ภาคใต้ชายแดน เดิมมียอดผู้เรียนอาชีวศึกษาประมาณ 11% แต่ในปีการศึกษาที่จะเปิดเทอมใหม่นี้มียอดเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของนักเรียน ม.3 ที่เข้าเรียนต่อสายอาชีวศึกษา

ทั้งนี้ ยังมีงานขับเคลื่อนให้อาชีวศึกษาร่วมกับ กศน. ค้นหาและร่วมกันพัฒนาสินค้า นวัตกรรม พร้อมจัดหาทีมที่ปรึกษาทางธุรกิจให้ ซึ่งดำเนินการเป็นครั้งแรกที่ภาคใต้ชายแดน จัดงานขึ้นเป็นรูปธรรม 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนให้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจจริง โดยการจัดกิจกรรมให้อาชีวศึกษาภาคตะวันออกทั้งหมดนำนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลระดับภาคปี 2559 และปี 2560 จำนวน 120 ชิ้นงาน มาจัดแสดง พร้อมเชิญชวนนักอุตสาหกรรม-นักธุรกิจ บริษัทต่างๆ มาดูและร่วมพิจารณาว่าสามารถจะนำเข้าสู่ระบบธุรกิจได้อย่างไร โดยจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ. 2561 ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี

โดยรูปแบบความร่วมมือในการช่วยเหลือขับเคลื่อนให้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจจริง ประกอบด้วย 4 ลักษณะ คือ
1. นักอุตสาหกรรม-นักธุรกิจ มาสั่งซื้อสิ่งประดิษฐ์
2. นักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจ มาแนะนำให้เพิ่มหรือพัฒนางานเล็กน้อย แล้วสั่งซื้อ
3. นักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจ มาให้โจทย์ใหม่ แล้วสั่งซื้อ
4. นักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจ มาเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษา

นักอุตสาหกรรม-นักธุรกิจที่เข้ามาแล้วแสดงตัวเข้าช่วยเหลือจะได้รับเกียรติบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการ โดย พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ภายในงานวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมและนักธุรกิจยื่นความจำนงที่จะเข้ามานำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ผลงานอาชีวศึกษาภาคตะวันออกไปใช้ในงานผลิตและธุรกิจแล้ว 31 บริษัท ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบธุรกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC” พลเอก สุรเชษฐ์กล่าว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


SMEs manager




กำลังโหลดความคิดเห็น