xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมขยาย ร.ร.ประชารัฐเฟสสองอีก 1,246 โรง ปั้นเว็บไซต์กลางเรียนอาชีพไหนรุ่ง พ่วงสมุดพกไอที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชารัฐการศึกษาเฟสแรกประสบความสำเร็จ ร.ร. อยู่ในเกณฑ์พัฒนาและพอใช้ “กอบศักดิ์” ชี้ เป็นคำตอบปฏิรูปการศึกษา เตรียมเดินหน้าเฟสสองปั้นเว็บไซต์กลาง ทำข้อมูลอาชีพไหนเรียนแล้วรุ่ง เงินเดือนดี ทำสมุดพกอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาสู่ นร. เป็นศูนย์กลาง วางกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ภายใน 2 เดือน “ศุภชัย” เผยเตรียมขยายอีก 1,246 โรง ด้าน “หมอธี” รับการศึกษาไทยปางตาย ต้องรักษาด้วยประชารัฐ

วันนี้ (24 เม.ย.) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมหัวหน้าคณะทำงาน โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) / โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED) ว่า โครงการประชารัฐด้านการศึกษาทั้ง E2 และ E5 ถือว่าคึกคักที่สุด ในประชารัฐของประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งอนาคตของประเทศไทยอยู่ตรงนี้ คือ การพัฒนาเด็กขึ้นมาเป็นอนาคตของชาติ ที่ผ่านมาถือว่ายังมีการดูแลไม่ดีพอ ซึ่งประชารัฐถือเป็นคำตอบในเรื่องนี้ ทั้งเรื่องไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งนี้ การปฏิรูปตนเองของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นสิ่งที่รอคอยมานาน การที่มีประชารัฐก็จะได้มุมมองจากภายในทั้งภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเฟสต่อไปในเรื่องประชารัฐด้านการศึกษา จะต้องดำเนินการต่ออีก 4 - 5 ด้าน เช่น การทำเว็บไซต์กลางที่จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนทราบว่า อาชีพไหนเรียนแล้วมีงานทำ เรียนแล้วได้เงินเดือนมาก หรือได้เงินเดือนน้อย ซึ่งหากทำสำเร็จจะเป็นจุดเปลี่ยนของการจัดสรรกำลังคนไปสู่อาชีพต่างๆ ของประเทศได้, การทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา 20 ปี ซึ่งจะต้องทำภายใน 2 เดือนข้างหน้า และต้องทำแผนแม่บทรองรับยุทธศาตร์ในการขับเคลื่อน ซึ่งไม่ทำไม่ได้ มิเช่นนั้นจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 สามารถสั่งพักงานปลัด ศธ. ได้ หรือการทำเรื่องสมุดพกอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในกระบวนการประเมินเด็กได้หลายเรื่อง กลยุทธ์เรื่องการใช้สื่อ ซึ่งขณะนี้ก็มีการทำเว็บไซต์ติวฟรีดอตคอมแล้ว จะได้ทำให้เด็กเข้าถึงคอนเทนต์ที่แท้จริง ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มีคุณค่ามากขึ้น รวมไปถึงการขับเคลื่อนบัณฑิตพันธุ์ใหม่และอาชีวะพันธุ์ใหม่ด้วย และต้องเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาในวันนี้วิกฤตเหมือนคนไข้ปางตาย แต่ตอนนี้กำลังเข้าสู่การรักษาของโรงพยาบาลประชารัฐ ประกอบด้วย ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมามีฝ่ายการเมืองออกมาพูดกันมากว่า ไม่เห็นการปฏิรูปด้านการศึกษา แต่วันนี้เป็นประจักษ์พยานว่าไม่จริง หลายสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพียงแต่เราไปหวังผลว่าการปฏิรูปจะต้องเกิดขึ้นเร็วภายใน 10 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วอาจต้องใช้เวลาถึง 30 ปี ถึงจะเห็นผล

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชัน หัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน (E5) กล่าวว่า ประชารัฐด้านการศึกษาในเฟสแรกถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งจากช่วง 1 ปีที่ดำเนินการมา ทำให้เราทราบว่าโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 3,351 โรง อยู่ในระดับใด ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระดับ คือ ระดับพัฒนา ระดับพอใช้ ระดับดี ระดับดีมาก และระดับเป็นเลิศ ซึ่งสามารถสร้างโมเดลในการพัฒนาตนเองได้ โดยขณะนี้ส่วนใหญ่โรงเรียนจะอยู่ในกลุ่มระดับพัฒนาและพอใช้ เนื่องจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐเป็นโรงเรียนที่ต้องการการสนับสนุน ซึ่งเป้าหมายเราต้องการเห็นการพัฒนาของโรงเรียนจากระดับหนึ่งไปอีกระดับหนึ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นต้องก้าวกระโดดจากระดับพัฒนาไปเป็นระดับเป็นเลิศ ถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพหนึ่ง ทำให้ผู้ปกครองในพื้นที่หรือสถานศึกษาวางแผนในการพัฒนาตนเอง สำหรับปี 2561 ในเฟสสองนี้ จะขยายการสนับสนุน ร.ร.ประชารัฐเพิ่มอีก 1,246 โรง และจะเน้นการร่วมมือของสื่อให้คุณค่าเรื่องการศึกษาเพิ่มขึ้น ให้องค์ความรู้เรื่องการศึกษาแก่นักเรียนผู้ปกครอง

นายศุภชัย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งหากผู้บริหารมีความเข้าใจในเรื่องนี้ จะยิ่งช่วยให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วยิ่งขึ้นและนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่โรงเรียน ดังนั้น จึงต้องพัฒนาให้ผู้บริหารและครูเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องเหล่านี้และสื่อดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องนักเรียนเป็นศูนย์กลางก็มีความสำคัญ ซึ่งก็มีข้อเสนอในการทำสมุดพกอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากจะช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากๆ ของนักเรียนได้ ทำเรื่องการประเมินได้ ทำให้เห็นชัดว่าการมีนักเรียนเป็นศูนย์กลางเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ครูให้ข้อแนะนำปรึกษานักเรียนอย่างไรบ้าง รู้จักนักเรียนดีแค่ไหน ครูมีการคุยกันหรือไม่ว่าจะช่วยพัฒนาหรือประเมินเด็กคนหนึ่งได้อย่างไร และการประยุกต์เรื่องเทคโนโลยีตั้งแต่พื้นฐานถึงเรื่องตอมพิวเตอร์ในมือเด็ก ดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นเรื่องที่เราเน้นทำร่วมกัน 3 ภาคฝ่าย





กำลังโหลดความคิดเห็น