กสิกรไทย จับมือ ETDA Google (ประเทศไทย) และ LINE@ จัดโครงการ K SME Good to Great หนุนธุรกิจค้าปลีก ให้จัดการธุรกิจในรูปแบบ Omni Channel รับกระแสอีคอมเมิร์ซเติบโต
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าธนาคารกสิกรไทยร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) บริษัท Google (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท LINE ประเทศไทย จัดโครงการ K SME Good to Great ธุรกิจค้าปลีก เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจค้าปลีกสามารถบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ หรือ Omni Channel ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สำหรับรายละเอียดโครงการจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.งานสัมมนา “ค้าปลีกยุคใหม่ ปรับอย่างไรให้อยู่รอด” ให้ความรู้เรื่องเทรนด์ธุรกิจค้าปลีกและกลยุทธ์การปรับตัว รวมถึงการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการจัดการธุรกิจ 2. การอบรมเชิงลึก 5 วัน กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริง โดยคัดเลือกผู้สมัครเพียง 50 รายเท่านั้นเพื่อเข้าร่วมการอบรม และ 3. การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำตลาดออนไลน์ สำหรับ 5 ธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลรายละ 100,000 บาท เพื่อเป็นเงินสนับสนุนการทำตลาดออนไลน์ โดยธนาคารหวังว่า โครงการนี้จะช่วยผู้ประกอบการค้าปลีกไทยให้สามารถปรับกลยุทธ์ธุรกิจสู่การเป็นค้าปลีกยุคใหม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ
“ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมการชอปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เอสเอ็มอีที่ค้าขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียวประสบปัญหายอดขาย และจำนวนลูกค้าที่ลดลง จึงเริ่มหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แต่การขายของผ่านออนไลน์ก็มีการแข่งขันสูง รวมถึงมีความยากในการบริหารจัดการธุรกิจในรูปแบบ Omni Channel ให้ประสบความสำเร็จ ทั้งการจัดการข้อมูล การบริหารสต๊อก ช่องทางการชำระเงิน และการสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งโครงการ K SME Good to Great นี้ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ธนาคารตั้งใจทำขึ้น เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันได้ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS SHOP โซลูชั่นทางการเงินที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีรับเงินในการขายออนไลน์ได้คล่องตัวยิ่งขึ้น และการเชื่อมต่อกับพันธมิตร เช่น ระบบบัญชี ลอจิสติกส์ และโซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจในยุคดิจิทัลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ด้านนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในแต่ละปี ETDA ได้มีการจัดทำผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ปีละครั้ง โดยคาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซปี 2560 เติบโตเพิ่มขึ้น 9.86% ซึ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2C ของไทยปี 2560 จะสูงถึง 7.03 แสนล้านบาท โดยคาดว่าเพิ่มขึ้น 37.91% และมูลค่าอีคอมเมิร์ซ B2C ของไทยจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุดในอาเซียน ซึ่งจากการสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยก็ขึ้นมาติด 1 ใน 5 กิจกรรมยอดฮิตเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าคนไทยยอมรับการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ETDA ได้ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซอยู่หลายโครงการ ซึ่งโครงการ K SME Good to Great ธุรกิจค้าปลีก ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่ ETDA ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นางสาวณภัทร์ จรัสสุวิชากณิช Industry Manager บริษัท Google (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการไปในทิศทางที่พึ่งพาดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การค้นหาข้อมูล ไปจนถึงการซื้อสินค้า ผู้ประกอบการค้าปลีกจะต้องรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้ โดยการขยายการเข้าหาลูกค้าบนโลกออนไลน์ และฉวยโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมอาจมีข้อจำกัดในการรับรู้ถึงวิธีการซื้อสินค้าและบริการที่เปลี่ยนไปในยุค 4.0 และ ทักษะในการทำการตลาดดิจิทัล เช่น การทำเว็บไซต์ ซึ่งเปรียบได้กับการสร้างหน้าร้านของตัวเองบนออนไลน์ หรือการวัดผลทางธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัล โครงการ K SME Good to Great นี้ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างพื้นฐานความเข้าใจ และทักษะเชิงดิจิทัลให้กับธุรกิจค้าปลีกที่น่าสนใจ ธนาคารกสิกรไทย ได้ออกแบบคอร์สให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขยายธุรกิจผ่านดิจิทัลอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะเป็นการสร้างทักษะที่สำคัญให้กับธุรกิจค้าปลีกในการปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0
นางสาวสกุลรัตน์ ตันยงศิริ หัวหน้าธุรกิจ LINE@ บริษัท LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจ e-commerce ในประเทศไทยเติบโตประมาณ 9-14% ของทุกปี แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มเข้าใจและกำลังปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกออนไลน์แบบเต็มตัว ผู้บริโภคในปัจจุบันกล้าสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์แบบไม่กังวลอย่างแต่ก่อน ซึ่งผู้ประกอบการต้องสามารถเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างถูกต้อง และต้องรู้ว่า ลูกค้าของเรามีไลฟ์สไตล์แบบไหน ควรสื่อสารอย่างไร ใช้ภาษาแบบไหน หรือช่วงเวลาใดถึงจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ซึ่งปัญหาหลัก หรืออุปสรรคหลัก ๆ ของผู้ประกอบการที่ศึกษามามี 3 อย่าง คือ 1. การปิดรับสิ่งใหม่ ผู้ประกอบการยังมีบางส่วนที่ยังคุ้นเคยกับสิ่งเดิม ๆ ที่ทำอยู่ ไม่เปิดรับหรือไม่กล้าที่จะเริ่มสิ่งใหม่ 2. ปรับตัวได้ช้า เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจ ว่าต้องทำอย่างไร 3. มีต้นทุนที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้กิจการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ หรือต้องหยุดกิจการลง