xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้มเอกชนร่วมมือรัฐขับเคลื่อนจัดการศึกษา รับตลาดแรงงานและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กช. ยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชน รองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก ติวเข้มการศึกษาเอกชน ให้มีศักยภาพ ยกระดับคุณภาพ ทั้งภาคเอกชนต้องร่วมมือกับรัฐ ร่วมกันจัดการศึกษา ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ และตรงกับความต้องการตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่โรงแรมวีวิช อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมโครงการพัฒนาคุณภาพครู ให้มีศักยภาพจัดการเรียนการสอน ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชน เพื่อรองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก มี นายสุวัฒน์ชัย แสนราช รองศึกษาธิการ จ.ขอนแก่น, ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม

ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า การจัดการศึกษาเอกชนในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า รัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดการศึกษา 50 : 50 เพราะขณะนี้รัฐจัดการศึกษาเองถึง 78% สิ่งที่จะทำให้เป็นไปได้ คือ นโยบายโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศชัดเจนว่า ต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษา และการขับเคลื่อนในรูปแบบของภาคเอกชนเอง โดยเครือข่ายสมาคมต้องวางแผนร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดินหน้าแข่งขันกันเอง

“รวมถึงการจัดการเชิงพื้นที่แต่ละจังหวัดให้มากขึ้น เพราะมีคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) รวมถึงคณะกรรมการศึกษาธิการ (ศธจ.) ทุกจังหวัด ซึ่งการบริหารจัดการเชิงพื้นที่สำคัญมาก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย อย่ามองภาคเอกชนว่าเป็นคู่แข่งกัน แต่ต้องร่วมมือช่วยกันยกระดับคุณภาพ และสร้างเครือข่ายกับภาครัฐ หน่วยงานในพื้นที่ให้ได้ จึงจะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จ” ดร.พะโยม กล่าว

อยากให้ประชาชนมองการจัดการศึกษาเอกชนไม่ใช่เชิงธุรกิจ ขอให้วางใจ ว่า เอกชนจะพลิกสถานการณ์เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษาของประเทศ และอยากให้ภาคเอกชนที่มีกำลังไม่มากพอ ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษามากขึ้น เพียงครึ่งหนึ่งหรือ 3 ใน 4 ที่รัฐสนับสนุนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้าน นายสุวัฒน์ชัย แสนราช รองศึกษาธิการ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่นโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 ซึ่งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยในระยะแรก 2558 มี 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก ตราด สระแก้ว มุกดาหาร และ สงขลา

ส่วนระยะที่ 2 มี 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และ นราธิวาส เพื่อกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กำหนดแนวทางรองรับการเชื่อมโยงภูมิภาค และความเป็นเมืองการลงทุน
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกของเมือง

ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เชื่อมกับเพื่อนบ้านส่งเสริมการลงทุนการค้าขายชายแดนและการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสำหรับแผนการเชื่อม กับเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการลงทุนการค้าขายชายแดนและการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับแผนการศึกษาแห่งชาติกำหนดเป้าหมายให้ทุกคนช่วงวัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษได้รับการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ กำลังคนมีทักษะ มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่นได้รับมอบหมาย จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมศึกษาเอกชนให้เป็นจุดพัฒนาครูให้มีศักยภาพจัดการเรียนการสอนในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชน เพื่อรองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลจึงจัดการประชุมตามโครงการดังกล่าวขึ้น

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้บริหารครูและบุคลากรทางการศึกษาเอกชนมีศักยภาพ จัดการเรียนการสอนในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชน เพื่อรองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งเพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น