xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ทรัพย์สินปัญญาโลกพบนายกฯชมไทยร่วมมือสางปัญหาได้เยี่ยม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
ผอ.องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เข้าหารือนายกฯ ชมเชยไทยมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ พร้อมทั้งร่วมกันหาทางป้องกันปัญหาและข้อขัดแย้งในอนาคต

วันนี้ (23 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำ นายฟรานซิส เกอร์รี่ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในโอกาสเยือนไทยเพื่อกล่าวสุนทรพจน์พิเศษ ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์

จากนั้น พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกฯยินดีที่ทราบว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้เคยทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Global Leader Award แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี 2552 ซึ่งนับเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของคนไทย

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในเรื่องการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของไทย ในการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0

“นายกฯกล่าวว่าภายใต้นโยบายดังกล่าว จะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีความเชื่อมโยงและจำเป็นต้องอาศัยความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน จึงหวังว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกจะร่วมมือกับรัฐบาลในการสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน นายกฯยังกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของรัฐบาล ด้วยการจัดทำโรดแมปด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมถึงนโยบายขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกได้ชื่นชมนายกฯที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ”

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ทาง นายฟรานซิส เกอร์รี่ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความหลากหลายในด้านวัฒนธรรม ประเพณี และมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนานาชาติ ซึ่งนายกฯกล่าวว่า ในปัจจุบันโลกมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม พันธุกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ จึงขอให้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกร่วมสร้างความเข้าใจ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้กับกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นส่วนรวม มากกว่าที่จะมองแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากเกษตรกรรมและยังคงมีผู้มีรายได้น้อยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากให้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก พิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มดังกล่าวจากการกำหนดแนวทางคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา


กำลังโหลดความคิดเห็น