xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมสร้าง “ดาวเทียม” ฝีมือเด็กกรุงเทพคริสเตียนฯ ดวงแรกของไทยขึ้นอวกาศในปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เตรียสมสร้าง “BCCSAT-1” ดาวเทียมดวงแรกฝีมือ นร.ชั้น ม.ปลาย ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ ขึ้นสู่อวกาศภายในปลายปี 2562 ผ่านโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม ดึงอาจารย์คณะวิศวะ มจพ. ร่วมสอนเทคโนโลยีอวกาศ ด้าน บริษัท อัสโตรเบอร์รี่ ร่วมพัฒนาและควบคุมดาวเทียมขึ้นวงโคจร สรางประวัติศาสตร์แรกให้ประเทศไทย

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่หอธรรม โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พร้อมด้วย ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศ.ดร.ชินอิจิ นากาซึกะ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ Intelligent Space System Laboratory (ISSL) มหาวิทยาลัยโตเกียว นายกิตนาถ ชูสัตยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัสโตรเบอร์รี่ จำกัด และ นายมาซาโนบุ สึจิ ผู้อำนวยการองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ ร่วมลงนามข้อตกลงด้านการเรียนการสอนโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม (BCC SPACE PROGRAM) เพื่อสร้างพื้นฐานและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศให้แก่นักเรียน

นายศุภกิจ กล่าวว่า ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ เข้าร่วมโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม เมื่อปลายปี 2560 เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนก่อนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา โดยตั้งเป้าหมายที่จะบุกเบิกโครงการศึกษาด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศสำหรับนักเรียนมัธยม ซึ่งเริ่มสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก (CubeSat) เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรภายในปลายปี 2562 โดยจะเป็นดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ดวงในโลกที่ถูกพัฒนาและส่งเข้าสู่วงโคจรด้วยฝีมือของนักเรียนระดับมัธยม นอกจากนี้ ร.ร. ได้เตรียมสร้างห้องปฏิบัติการด้านอวกาศ (Space Laboratory) และสถานีควบคุมและสื่อสารภาคพื้นดิน (Ground Station) เพื่อรองรับการพัฒนาด้านการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศต่อไปในอนาคต
นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
"เราต้องการให้นักเรียน ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาสนใจเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ซึ่งแม้มหาวิทยาลัยทั่วโลกจะสร้างดาวเทียมมากพอสมควร แต่ในระดับนักเรียนถือว่ายังมีน้อยมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังไม่มีเลย ขณะนี้โรงเรียนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 มีนักเรียนระดับชั้น ม.4 จำนวน 27 คน ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มแรกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยในปีการศึกษา 2561 เราเริ่มนับถอยหลังจากนี้ 2 ปี ดาวเทียมจะต้องสร้างให้เสร็จ เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรภายในปลายปี 2562 เนื่องจากได้นำงบประมาณ 7 ล้านบาทไปเช่าพื้นที่จรวดของประเทศรัสเซียเพื่อนำดาวเทียมไปปล่อยบนอวกาศ" นายศุภกิต กล่าว

นายศุภกิจ กล่าวว่า หากจะถามว่าการสร้างดาวเทียมได้ประโยชน์อะไร ขอให้มองเรื่องดาวเทียมกับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเดียวกัน คือ 1.เปิดโลกความคิดเปิดสมองของเด็กทางการศึกษา 2.เกิดโลกของการเรียนรู้ การทำงานเป็นทีม การประกอบ การควบคุมวงโคจรของดาวเทียม เพราะดาวเทียมสามารถถ่ายรูปได้ หากเด็กต้องการถ่ายรูปกำแพงเมืองจีน เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ในการควบคุมวงโคจร การคำนวณเวลา 3.เมื่อมีดาวเทียมก็จะต้องมีสถานีภาคพื้นดิน จะเกิดการสื่อสารระหว่างกันทั่วโลก เมื่อดาวเทียมไปหยุดอยู่ที่สถานีไหนของประเทศนั้นจะใช้ประโยชน์ของดาวเทียมที่มีอยู่ได้มากมายบนอวกาศ
นายกิตนาถ ชูสัตยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัสโตรเบอร์รี่ จำกัด
นายกิตนาถ กล่าวว่า บริษัท อัสโตรเบอร์รี เน้นการสร้างและพัฒนาอุตสหกรรมเทคโนโลยีและกิจการอวกาศในประเทศไทย เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ จากการใช้ทรัพยากรในห้วงอวกาศ อันเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งในประเทศและในภูมิภาคนี้ สำหรับโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม บริษัทฯ รับผิดชอบในการบริหารจัดการโครงการโดยรวม ร่วมกับ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ และยังเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและควบคุมการผลิตดาวเทียม BCCSAT-1 รวมถึงการส่งเข้าสู่วงโคจร

ด้าน รศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน - อวกาศ มจพ. ได้ดำเนินการส่งดาวเทียม KNACKSAT เข้าสู่วงโคจร นับเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทยที่ออกแบบและดำเนินการสร้างโดยอาจารย์และนักศึกษา และเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทย 100% ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ มจพ. จึงได้เข้าร่วมในโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม โดยให้การสนับสนุนทางด้านการอบรมและฝึกสอนให้แก่นักเรียน ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ โดยส่งอาจารย์เข้าไปสอนนักเรียนทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี และอำนวยความสะดวกในการใช้ห้องปฏิบัติการด้านอวกาศและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดาวเทียมในโครงการนี้

ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการดังกล่าวของ ร.ร.กรุงทเพคริสเตียนฯ ถือเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ นำเรื่องดาวเทียมและอวกาศมาสอนแก่เด็กระดับมัธยม จัดการเรียนการสอนแบบเข้มข้นถึง 630 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ แต่ตนมองว่าเป็นความท้าทายในการจัดการศึกษาและต้องกล้าที่จะทำ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศในปัจจุบันมุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น การศึกษาจะเป็นพื้นฐานในการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับ อย่างไรก็ตาม โครงการบีบีซี สเปซโปรแกรม นับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบสำคัญในการจัดการศึกษาและพัฒนาบุคลากร และเชื่อว่าจะมีการขยายผลต่อไปในอนาคตแน่นอน
นายชยธร ฉัตรธนมพรโยธิน นักเรียนชั้น ม.4
นายชยธร ฉัตรธนมพรโยธิน นักเรียนชั้น ม.4 ร.ร.กรุงเพคริสเตียนฯ กล่าวว่า สมัครเข้าโครงการบีซีซี สเปซโปรแกรม เพราะสนใจในเรื่องของทักษะการทำงานจริงเกี่ยวกับอวกาศ โดยมีแผนที่จะศึกษาต่อในอนาคต จากที่ได้เข้าเรียนเริ่มต้นจะเรียนวิชาพื้นฐานช่วงปิดภาคเรียนก่อน ทั้งการออกแบบวงจร การเขียนโปแกรม เรียนรู้วิธีการออกแบบโครงสร้าง การบริหารจัดการในการสร้างชิ้นงาน เมื่อเปิดเทอมก็จะเน้นการปฏิบัติการ โดยนำความรู้จากการเรียนพื้นฐานมาเริ่มการทดลองทำดาวเทียมกระป๋องก่อน มีการทดสอบภารกิจก่อนการส่งดาวเทียมจริง การสร้างดาวเทียมเป็นกระบวนการฝึกการเป็นผู้สร้าง ให้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ควบคุม โดยกระบวนการสร้างสิ่งสำคัญคือต้องรู้จักบริหารจัดการให้เป็น ก็จะสามารถสร้างดาวเทียมได้สำเร็จ ซึ่งต่างจากการเป็นผู้ใช้ เพราะการเป็นผู้ใช้เมื่อเกิดความเสียหายจะแก้ไขไม่เป็น โดยถ้าสามารถสร้างดาวเทียมเองได้ จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ด้วย

นายชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ นักเรียนชั้น ม.4 ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นคนที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี แรงบันดาลใจน่าจะเกิดตั้งแต่ช่วงประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้มีโอกาสไปแข่งขันพวกสิ่งประดิษฐ์เริ่มรู้สึกว่าชอบ อยากจะเรียนรู้ ประกอบกับคุณพ่อก็ทำงานเกี่ยวกับด้านไอทีอยู่แล้วทำให้มีความผูกพันมาแต่เด็ก ที่ผ่านมาพยายามฝึกฝนเรียนรู้ตลอด ทั้งการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทดลองเขียนโมบายแอปพลิเคชัน เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเปิดรับสมัครโครงการบีบีซี สเปซโปรแกรมก็เลยตัดสินบอกกับพ่อและแม่ว่าอยากจะเรียนด้านนี้ ซึ่งที่บ้านก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ก็สมัครและได้รับคัดเลือกเข้าเรียน

“หลายคนอาจจะมองว่า ดาวเทียม อวกาศเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ผมว่าในปัจจุบันยุคของเทคโนโลยี นวัตกรรมสิ่งเหล่านี้ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด ถ้าเราสามารถพัฒนาจนสามารถปล่อย ดาวเทียมได้เป็นผลสำเร็จก็น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราใกล้ชิดกับนวัตกรรมได้มากขึ้น อีกทั้งดาวเทียมจะเป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลมหาศาล ที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาได้ ซึ่งในการเรียนนี้พวกผมและเพื่อนจะต้องร่วมกำหนดภารกิจในการจะปล่อยดาวเทียมด้วย ซึ่งตัวผมมีความฝันว่าถ้าทำได้อยากจะทำเกี่ยวกับบล็อกเชน (Blockchain) เก็บรวบรวมข้อมูลการเงิน อาทิ บิทคอย เป็นต้น” นายชวัลวัฒน์ กล่าว

นายชวัลวัฒน์ กล่าวว่า การเรียนในโครงการนี้จะแตกต่างจากการเรียนโปรแกรมทั่วไป มีความเข้มข้นมากกว่า โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ ตามแผนใน 1 สัปดาห์จะเรียนประมาณ 40 คาบ ก็ค่อนข้างหนัก และต้องปรับตัวพอสมควร แต่ก็ไม่กังวลพยายามจัดแบ่งเวลา ทั้งการเรียนและทำกิจกรรมควบคู่กันให้ดีที่สุด และอนาคตก็ตั้งใจว่าอยากจะเรียน ต่อระดับอุดมศึกษาทางด้านวิศวคอมพิวเตอร์ หรือวิศวกรรมการบินและอวกาศ






กำลังโหลดความคิดเห็น