“ธุรกิจบริการด้านลอจิสติกส์” ถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการจึงจัดสัมมนา “เจาะลึกเส้นทางสู่ความเป็นเลิศของโลจิสติกส์ไทย” ขึ้นในระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้องแชมเบอร์ โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ภายในงาน นางชฎา บุญจร รักษาการนักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า การเปิดเสรีธุรกิจบริการที่มีทั้งโอกาสทางธุรกิจและแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้าของไทย ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งประเมินศักยภาพขององค์กรและแสวงหาแนวทางพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
การสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ให้บริการลอจิสติกส์และผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศที่จะได้รับฟังแนวทางและกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การบริหารจัดการตามหลักมาตรฐานระดับสากล โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ให้บริการลอจิสติกส์ที่ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการลอจิสติกส์ (ELMA) ซึ่งมาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ทางธุรกิจ และการนำองค์กร 2) การวางแผนและการปฏิบัติงานด้านลอจิสติกส์ 3) การให้ความสำคัญต่อลูกค้าและการตลาด 4) การใช้ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีที่สนับสนุนกิจกรรมด้านลอจิสติกส์ 5) การให้ความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ 6) การจัดการกระบวนการลอจิสติกส์ และ 7) สมรรถนะและผลลัพธ์ทางธุรกิจ
ด้าน นายนพพร เทพสิทธา ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และคณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “โลจิสติกส์ 4.0 ความท้าทายก้าวต่อไปของประเทศไทย” โดยเผยให้เห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงด้านการค้าว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็น Smart World ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับคลื่นยักษ์ทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ซึ่งเป็นดิจิตอลสึนามิที่พัดพาทั้งโอกาสและภัยคุกคามมายังผู้ประกอบการไทย
“เทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการลอจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น อีคอมเมิร์ซทำให้การสั่งซื้อเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้การจัดส่งต้องเปลี่ยนรูปแบบจากช่องทางเดียว (Single-Channel) ไปสู่การประสานทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-Channel) ผู้ประกอบการที่อยากจะแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นสมาร์ทลอจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการแบบครบวงจร โดยมี 3 ปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ IoT (Internet of Things) การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค Big Data การรวบรวมข้อมูลเพื่อการพยากรณ์ทางธุรกิจที่แม่นยำ และ AI (Artificial Intelligence) การหล่อหลอมปัญญาจากวิชาการต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีหรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันทุกรูปแบบ” นายนพพรกล่าว
นายจิรภัทร ธนโชติกีรติ ตัวแทนคณะกรรมการพิจารณารางวัล ELMA กล่าวถึงความสำคัญของ “เทคโนโลยี โอกาส และความท้าทายโลจิสติกส์ยุคอัจฉริยะ” ว่า เทคโนโลยี คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะกับองค์กรของตนเองได้ เริ่มจากกำหนดเป้าหมายของธุรกิจว่าต้องการเดินไปในทิศทางใด แล้วต้องหันกลับมาตรวจสอบศักยภาพและความพร้อมขององค์กร เก็บข้อมูลจากทุกแผนกภายใน รวมถึงลูกค้าซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก เพื่อนำมาเป็นกรอบในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งอาจเป็นระบบ แบบแผน หรือเครื่องมือที่ใช้ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย
“โลกการค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว องค์กรจึงจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลและบุคลากรที่สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เท่าทันความต้องการของลูกค้า โดยโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการลอจิสติกส์ในยุค 4.0 คือต้องหาวิธีที่จะลดขั้นตอนในการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง เพื่อเติมเต็มความต้องการลูกค้าให้ได้มากที่สุด (Customers Fulfillment) จึงจะทำให้ธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้” นายจิรภัทรกล่าว
ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อวางแผนกลยุทธ์สู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจ และหัวข้อทรัพยากรมนุษย์ ปัจจัยแห่งความสำเร็จทางธุรกิจโลจิสติกส์ โดย นายอุดม ศรีสงคราม กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี. คาร์โก จำกัด ซึ่งได้รับรางวัล ELMA ประจำปี 2560 ได้เผยถึงมุมมองในเรื่องดังกล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของการวางกลยุทธ์ คือ ต้องรู้จักตนเอง ด้วยการทำ SWOT วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค รวมทั้งศึกษาปัจจัยภายนอกทั้งภาวะเศรษฐกิจ เทรนด์ผู้บริโภค และเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นข้อมูลกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ โดยการเข้าประกวดรางวัล ELMA ถือเป็นประสบการณ์สำคัญที่ช่วยให้บริษัทมองเห็นแนวทางที่ชัดเจนในการทำ SWOT ได้เข้าใจศักยภาพที่แท้จริงและนำข้อมูลมาปรับปรุงกระบวนการทำงาน รวมถึงพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร พร้อมนำพาธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตลอดเวลา 3 ปีที่ วี. คาร์โก มุ่งมั่นจนคว้ารางวัล ELMA ได้สำเร็จ นับเป็นความภาคภูมิใจ นอกจากรางวัลการันตีคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าแล้ว ความรู้ที่ได้รับยังเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น”
ขณะที่ นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาชเคม โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งได้รับรางวัล ELMA ประจำปี 2551, 2552 และ 2554 ร่วมแสดงทัศนะในประเด็นเดียวกันว่า “การกำหนดวิสัยทัศน์ต้องเริ่มจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กร พนักงานควรเห็นเป้าหมายเดียวกันและเข้าใจกระบวนการทำงานขององค์กร เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ สำหรับการบริหารจัดการบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับงาน มีการฝึกอบรมและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานได้หลากหลาย อีกทั้งควรส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสนับสนุนการเติบโตในอาชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ พร้อมทำงานตอบสนองความต้องการของลูกค้า นำไปสู่การสร้างคุณค่าที่ดีให้แก่องค์กร”
สำหรับผู้ให้บริการลอจิสติกส์ที่สนใจเข้าร่วมประกวดรางวัล ELMA ประจำปี 2561 สามารถค้นหาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.tilog-logistix.com สมัครได้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน-8 มิถุนายน 2561