ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แผนการตีปี๊บป่าวประกาศเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลกให้หอบเงินมาลงใน เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของดรีมทีมเศรษฐกิจ นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ ปรากฏผลงานเป็นรูปธรรมให้เห็นกันชัดเจนแล้ว โดยกลุ่มทุนแม่เหล็กพลังดึงดูดสูงอย่าง นายแจ็ค หม่า ตัดสินใจเข้ามาปักหมุดหมายแรกด้วยการทุ่มทุนนำร่องกว่าหมื่นล้านบาท นับเป็นการเปิดศักราชการลงทุนในไทยอย่างเป็นทางการหลังจากไปมาเลย์มาก่อนหน้านี้แล้ว
คณะผู้นำของประเทศไทย ให้การต้อนรับนายแจ็ค หม่า แบบสุดปลื้มปริ่ม โดยเปิดทำเนียบรัฐบาล รับกันอย่างอบอุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบาและคณะผู้บริหารเข้าเยี่ยมคารวะ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 ในท่วงทำนองราวกับฝากความหวังให้เจ้าพ่ออาลีบาบาเข้ามาช่วยสร้างคน สร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่กันเลยทีเดียว
ยังมีคำขอที่เป็นการเฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มเกษตรกร เศรษฐกิจฐานรากและฐานเสียงสำคัญด้วย โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้อาลีบาบา ช่วยยกระดับฐานะเกษตรกรรายย่อยให้มีรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ และขอให้ช่วยดูเรื่องของสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน การทำเกษตรแปลงใหญ่ รวมไปถึงการเรื่องการขายปาล์ม ข้าว และยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าที่ยังมีปัญหาอยู่ การที่เขามีโรงเรียนสอนเรื่องธุรกิจ การค้าขายทางออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ช) การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่เขามามุ่งเอาผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว นายแจ็ค หม่า พูดถึงระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าเกษตรไปได้ภายใน 24 ชั่วโมง เขาพร้อมให้บริการในการขนส่งสินค้าเกษตรของไทย ถือเป็นผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การเข้ามาลงทุนของนายแจ็ค หม่า จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกันที่จะส่งเสริมเรื่องต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้ความร่วมมือกันจะไม่ใช่แค่ไทยเอาสินค้าไปขายกับอาลีบาบา แต่ยังต้องสร้างระบบและพัฒนาคนเป็นการทำคู่ขนานไปด้วยกัน และการลงทุนของเขาในเรื่องเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ท ซิตี้ และโครงการศูนย์สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ ในโครงการอีอีซีมันจะเชื่อมโยงกันทั้งหมด
การมาของนายแจ็ค หม่า ในห้วงเวลานี้ จึงเป็นการมาที่ถูกเวลา ถูกจังหวะ ถูกท่วงทำนองที่รัฐบาลกำลังตีฆ้องร้องเปล่าถึงผลงานพร้อมกับการกวาดต้อนค่ายมุ้งการเมืองต่างๆ เข้ามาร่วมวงไพบูลย์กับรัฐบาลทหารในเวลานี้และในอนาคต
สำหรับแผนการลงทุนนำร่องของนายแจ็ค หม่า ซึ่งเปรียบเสมือนหัวรบในสนามลงทุนในพื้นที่ EEC นั้น ปรากฏรายละเอียดจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันก่อนหน้าที่นายแจ็ค หม่า และคณะผู้บริหาร จะเดินทางมาเยี่ยมคาราวะนายกรัฐมนตรี
นายอุตตมเปิดเผยว่า วันที่ 19 เม.ย. 2561 นายแจ็ค หม่า (Mr. Jack Ma) ประธานกรรมการบริหาร Alibaba Group และคณะผู้บริหาร มีกำหนดการเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งจะเข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล และจะเข้าหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับ Alibaba Group เพื่อประกาศแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) รวมถึงโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและส่งเสริมบุคลากรไทยในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ
สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับ ดังนี้
1. โครงการลงทุนสร้างศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC โดยศูนย์ฯ นี้จะอาศัยเทคโนโลยีระดับโลกของอาลีบาบาในด้านการประมวลข้อมูลลอจิสติกส์เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก ซึ่งการตั้งศูนย์ Smart Digital Hub นี้จะช่วยผลักดันให้เหล่าธุรกิจ Startup และ SME ไทยสามารถพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงตลาดทั่วโลกได้ รวมถึงจะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงาน EEC จะเชื่อมประสาน Smart Digital Hub กับ เขตนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลปาร์ก (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ด้วย
“โครงการนี้อาลีบาบาจะลงทุนขั้นแรก มูลค่า 11,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปีนี้แล้วเสร็จเปิดดำเนินการในปี 2562 และคาดว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยขายสินค้าผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซได้ระยะแรก 30,000 กิจการ” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
2. โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัลและการส่งเสริมธุรกิจผ่าน E-Commerce ซึ่งอาลีบาบาจะร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่ง หรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) โดยอาลีบาบาได้เสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) มาร่วมสนับสนุนการใช้ Platform E-Commerce โดยจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน
3. โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการ SME และ Startup ของไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเน้นให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ ได้เรียนรู้และเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีไทยให้สามารถเข้าถึง Regional Global Value Chain โดยอาลีบาบาจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้เครือข่าย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 สู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ในระดับภาคและจังหวัดของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สามารถพัฒนาและเข้าถึงผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการ Startup ระดับชุมชนทั่วประเทศ
4. อาลีบาบาจะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) ในการจัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะเพื่อจัดกิจกรรมด้านการตลาดร่วมกันบนออนไลน์แพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงกับสื่อและช่องทางต่างๆ ของ ททท. รวมทั้งจะร่วมมือกันในด้านการใช้ข้อมูลทางการท่องเที่ยว (Tourism Big Data) เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในไทยให้รองรับยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเมืองรองและการท่องเที่ยวในระดับชุมชนของรัฐบาล
5.
ในวันดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับอาลีบาบาเปิดตัว ไทยไรซ์แฟล็กชิพสโตร์บนเว็บไซต์ Tmall.com เพื่อสนับสนุนการขายข้าวและทุเรียนจากประเทศ ไทยผ่านระบบออนไลน์ไปในจีน จากนั้นจะเร่งขยายไปยังสินค้าเกษตรประเภทอื่นๆ ต่อไปในระยะยาว ซึ่งการขายสินค้าดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์จะช่วยให้เกษตรกรไทยเข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายอุตตม กล่าวถึงเบื้องหลังการตัดสินใจมาลงทุนในไทยของนายแจ็ค หม่า ด้วยว่าการเจรจากับอาลีบาบาใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าจะบรรลุการลงทุนและโครงการที่จะเกิดเป็นรูปธรรม โดยทางอาลีบาบาได้ศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคและเล็งเห็นว่าไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอีคอมเมริซ์ในภูมิภาค จึงมีความตั้งใจที่จะมาลงทุนและร่วมมือกับหน่วยงานของไทยในโครงการต่างๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่าร้อยละ 68 สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ ขณะที่จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือ (Active Mobile Social Users) ของโลกและของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 14 และ 16 ตามลำดับ อีกทั้งรายได้จากธุรกิจอีคอมเมิรซ์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย คาดว่ารายได้จากธุรกิจอีคอมเมิรซ์ จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 113,400 ล้านบาท ในปี 2561 เป็น 186,500 ล้านบาท ในปี 2565 ประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี ของรัฐบาลที่ช่วยสร้างความมั่นใจในทิศทางการพัฒนาประเทศ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ โครงข่ายทางดิจิทัล และมาตรการสิทธิประโยชน์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการลงทุน ทำให้อาลีบาบาเล็งเห็นโอกาสที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ Internet of Things (IOT) เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินธุรกิจด้วย
“โครงการร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือที่จะขยายวงกว้างต่อไป” นายอุตตม คาดหวัง
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า โครงการจากอาลีบาบาครั้งนี้มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการลงทุนและการพัฒนาประเทศ โครงการนี้จะต่างจากการลงทุนประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกัน โดยอาลีบาบาจะมาเน้นพัฒนาประเทศไทยคู่กันไป เช่น นำสินค้าไทยส่งออกไปขายจีน และในอนาคตจะเป็นโครงการใหญ่ที่สุดในอาเซียน
อาลีบาบา นำร่องลงทุนแล้ว โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กำลังจะได้ฤกษ์เปิดประมูลแล้ว กฎหมายอีอีซีก็ผ่านสภาไปเรียบร้อยแล้ว ดินแดนสวรรค์ของนักลงทุนกำลังจะเบ่งบาน แต่โปรดอย่าลืมดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ EEC ให้อยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กันไปด้วย