xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทุ่ม 3.3 หมื่นล้าน"ปฏิรูปราชการ" จังหวัดไหน? เบิกมากสุด–ครึ่งปี 61 ทำไมต่ำกว่าเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายวันก่อน กระทรวงมหาดไทย เพิ่งจะสรุปการรวบรวมและวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงานในการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ค.60 จากจังหวัดและกลุ่มจังหวัด วงเงิน 26,432 หมื่นล้านบาท ที่มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายของรัฐบาล

โดยได้จัดทำเป็นผลการวิเคราะห์งบประมาณของจังหวัดละกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 61 จากข้อมูลผลการเบิกจ่ายงบประมาณของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ณ สิ้นเดือนก.ย.60 ปรากฏว่า มีผลการเบิกจ่ายในภาพรวม19,878 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.39
 
ยังพบว่า จังหวัด/กลุ่มจังหวัด ที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ตั้งแต่ร้อยละ 98 เป็นต้นไป มี 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ สกลนคร สระบุรี หนองคาย อุทัยธานี, และ บึงกาฬ โดยเฉลี่ยจังหวัดจากงบฯปี 60 ที่รับโอนวงเงิน 19,378 ล้านบาท เบิกจ่ายในภาพรวม 15,672 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 80.88 โดยเป็นงบลงทุน 10,919 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.54

ส่วนกลุ่มจังหวัด “ไม่มีกลุ่มจังหวัด”ที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉลี่ยกลุ่มจังหวัดจากงบฯปี 60 ที่รับโอน วงเงิน 5,980 ล้านบาท เบิกจ่ายในภาพรวม 4,205 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 70.33 โดยเป็นงบลงทุน 3,206 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 68.48

ยังมีผลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายตั้งแต่ ร้อยละ 87 เป็นต้นไป มี 28 จังหวัด และ 1 กลุ่มจังหวัด
 
สำหรับผลการเบิกจ่ายภาพรวมของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ที่ผ่านเกณฑ์ค่าเป้าหมายของรัฐบาล ตั้งแต่ร้อยละ 96 มี 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สมุทรสาคร นราธิวาส และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนกลุ่มจังหวัด “ไม่มีกลุ่มจังหวัด”ที่สามารถเบิกจ่ายในภาพรวมได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล“จังหวัดที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 98.71 , นราธิวาส ร้อยละ 97.19 , สมุทรสาคร ร้อยละ 96.71 , ชัยนาท ร้อยละ 96.08 และ สระแก้ว ร้อยละ 97.61”

กลุ่มจังหวัดที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ภาคกลางตอนกลาง ร้อยละ 90.47 ภาคกลางตอนล่าง 1 ร้อยละ 82.37 และ ภาคเหนือตอนบน 1 ร้อยละ 78.87

กระทรวงมหาดไทย ยังพบว่า ปัญหาและอุปสรรค ในการบริหารงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในงบประมาณปี 60 จากการกำกับติดตามและวิเคราะห์อย่างเปีนระบบ พบว่า สาเหตุปัญหาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ไม่สามารถใช้จ่ายงบฯได้ตามเป้าหมาย คือ ขาดความพร้อมของพื้นที่ดำเนินการ ต้องขออนุมัติการใช้พื้นที่จากหน่วยงานรับผิดชอบ , โครงการมีความซ้ำซ้อนได้รับงบประมาณจากแหล่งงบประมาณอื่นแล้ว , มีการจัดซื้อจัดจ้างหลายครั้ง เนื่องจากประมาณราคากลางสูงกว่างบฯ ที่ได้รับอนุมัติ ไม่มีผู้ยื่นเสนอราคา หรือยื่นแค่รายเคียว เป็นต้น

ยังพบว่า โครงการงบลงทุนที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 2 ล้านบาท ต้องใช้วิธีประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e- bidding) ใช้เวลาการดำเนินการค่อนข้างมาก , การปรับรูปแบบรายการ/รายละเอียดโครงการให้เหมาะสมกับการดำเนินงาน , ครุภัณฑ์/งานไม่ตรงตามแบบ , ปัญหาภัยธรรมชาติต่อฤดูกาล , บุคลากรขาดประสบการณ์ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ เช่น การกำหนด คุณลักษณะและราคากลาง เป็นต้น

บทสรุปดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำเป็นข้อมูล“แนวทางการดำเนินงานที่ดี (Best Practice)”เวียนไปยัง จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่มีผลการเบิกจ่ายงบฯสูงในปี 60 เพื่อใช้ดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 61 เช่น แนวทางขออนุมัติโครงการ การดำเนินการตามระเบียบพัสดุ การกำกับติดตามผล การประเมินผล เป็นต้น

อีกด้านหนึ่ง สำนักงบฯ ได้รายงานครม. ถึงผลการเบิกจ่ายงบฯรายจ่ายประจำปี 61 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60 ถึงวันที่ 30 มี.ค.61 งบฯทั้งสิ้น 2.9 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,570,559 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.71 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.59 (เป้าหมายภาพรวม ร้อยละ 52.29)
 
แยกเป็น รายจ่ายประจำ 2,240,219 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,289,742 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.57 สูงกว่าเป้าหมาย ร้อยละ 6.57 (เป้าหมายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 55) เป็น งบรายจ่ายลงทุน (ไม่รวมงบกลาง) 577,299 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 180,811 ล้านบาท คิดเปีนร้อยละ 31.32 ต่ำกว่าเป้าหมาย ร้อยละ 11.79 (เป้าหมายรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 43.11) มีการก่อหนี้แล้ว 382,788 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.31

เป็นรายจ่ายลงทุน รายการปีเดียว (ไม่รวมงบกลาง) ที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ตามมาตรการ 54,617 ล้านบาท โดยมีสถานะดำเนินการ ดังนี้

รายจ่ายลงทุนหน่วยงานดำเนินการเอง และรายการค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,775 ล้านบาท รายการค่าครุภัณฑ์ ที่มีคุณลักษณะพิเศษ หรือจัดซื้อจากต่างประเทศ 5,301 ล้านบาท งบฯรอลงนาม 6,870 ล้านบาท ทราบผลการประกวดราคาแล้ว 14,554 ล้านบาท อยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 9,157 ล้านบาท อยู่ระหว่างการปรับแผนปรับรูปแบบ คุณลักษณะ และรายละเอียด 8,425 ล้านบาท เป็นรายการยกเลิก และเงินเหลือจ่ายจากการจัดซื้อจัดจ้าง 3,534 ล้านบาท

รัฐบาลยังรับทราบ “ประมาณการก่อหนี้ผูกพันรายจ่ายลงทุนรายการปีเดียว (ไม่รวมงบกลาง)”โดยหักรายจ่ายลงทุน หน่วยงานดำเนินการเอง รายการค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน รายการค่าครุภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษ หรือจัดซื้อจากต่างประเทศ และรายการยกเลิกและเงินเหลือจ่ายจากการจัดซื้อจัดจ้าง หลังวันที่ 30 มี.ค. 61 จำนวน 39,007 ล้านบาท

 คาดว่า ณ วันที่ 30 เม.ย.61 จะมีการก่อหนี้ผูกพันเพิ่มขึ้น 6,870 ล้านบาท จากรายการที่มีสถานะรอลงนาม และคาดว่า ณ วันที่ 31 พ.ค.61 จะมีการก่อหนี้ผูกพันเพิ่มขึ้น 14,554 ล้านบาท จากรายการที่มีสถานะทราบผลการประกวดราคาแล้ว

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ภายหลังมีการประกาศ “แผนการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน”โดยหนึ่งในนั้น มีการเปิดเผยจาก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ 5 ปี ระหว่างปี 61- 65 และ งบฯในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 6 ประเด็น มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นปฏิรูปที่ 1 บริการภาครัฐ สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน เช่น ปรับปรุงกระบวนการขออนุมัติอนุญาตจากภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและจัดให้มีการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านช่องทางดิจิทัล และศูนย์บริการร่วม งบประมาณดำเนินการ 5,000 ล้านบาท จากงบฯ ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง (กทปส.)

ประเด็นปฏิรูปที่ 2 ระบบข้อมูลภาครัฐมีมาตรฐานทันสมัย และเชื่อมโยงกัน ก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล ด้วยการบูรณาการ และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลดิจิทัล อาทิ การปรับปรุงพัฒนา การจัดทำ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัล ของหน่วยงานภาครัฐ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางภาครัฐสนับสนุนให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน การบริการประชาชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน งบประมาณดำเนินการ 21,440 ล้านบาท

ประเด็นปฏิรูปที่ 3 โครงสร้างภาครัฐ กระทัดรัด ปรับตัวได้เร็ว และระบบงานมีผลสัมฤทธิ์สูง อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างและระบบการบริหารราชการของส่วนราชการในภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ จังหวัดที่มีความคล่องตัว ในการบริหารระบบงาน ระบบเงิน และ ระบบกำลังคน และพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการปรับปรุงพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 งบฯดำเนินการ 676 ล้านบาท

ประเด็นปฏิรูปที่ 4 กำลังคนภาครัฐ มีขนาดที่เหมาะสม และมีสมรรถนะสูง พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยการลดขนาดกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐที่มีผลผูกพัน ภาระงบประมาณในระยะยาว อาทิ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และการบริการประชาชน ลดอัตรากำลังและควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐให้ครอบคลุมข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ควรมีการจ้างงานรูปแบบอื่นซึ่งไม่มีภาระผูกพันด้านงบประมาณในระยะยาว หรือใช้การจ้างเหมาบริการแทนการบรรจุข้าราชการ งบประมาณดำเนินการ 140 ล้านบาท

ประเด็นปฏิรูปที่ 5 ระบบบริหารงานบุคคลที่สามารถดึงดูด สร้าง และรักษาคนดี คนเก่งไว้ในภาครัฐ ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. ดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถและมีจิตสาธารณะเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ 2. ส่งเสริม จูงใจ และรักษาผู้มีความรู้ความสามารถและมีจิตสาธารณะไว้ในภาครัฐ 3. พัฒนาขีดความสามารถและความผูกพันต่อองค์กรของบุคลากรภาครัฐ 4. สร้างผู้นำให้เป็นตัวอย่าง 5. ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารทรัพยากรบุคคล และ 6. พัฒนาทางก้าวหน้าในสายอาชีพและสร้างความต่อเนื่องในการดำรงตำแหน่ง งบประมาณดำเนินการ 334 ล้านบาท

ประเด็นปฏิรูปที่ 6 การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คล่องตัว โปร่งใส และมีกลไกป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบครบวงจร เชื่อมโยง และบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และผู้ประกอบการ และ ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการติดตามตรวจสอบ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ งบประมาณดำเนินการ 358 ล้านบาท
 
สรุปคือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ตั้งเป้าว่ารัฐบาลในอนาคต จะใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนใน 5 ปี วงเงิน 33,408 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น