สสวท. ประกาศผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมประจำปี 2018 เน้นให้เด็กไทยมีประสบการณ์และใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ทั้งระบบแก้ไขปัญหาที่พบในชีวิตจริง ด้านนักวิจัยน้อยสนใจเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ
วันนี้ (1 เม.ย.) ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สสวท. ได้จัดการประกวดผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “GLOBE Student Research Competition 2018” ระหว่างวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2561 ณ ห้องเพชรไพลิน ชั้น 11 โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า สสวท. ส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนการสอนให้นักเรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์ประกอบของโลก (ดิน น้ำ บรรยากาศ สิ่งปกคลุมดิน) ในลักษณะของวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (Earth System Science) โดยใช้ความคิดระดับสูง (Higher order of thinking) และจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific attitude) ในการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific inquiry) ในการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนอย่างเป็นระบบ และเป็นมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถที่จะค้นคว้าวิจัยในระดับที่กว้างและลึกพอที่จะสามารถแก้ปัญหาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนได้อย่างแท้จริง ถูกต้อง และยั่งยืน ตลอดจนสามารถที่จะเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก
คณะผู้วิจัยในโครงการประกอบด้วยนักเรียนจำนวน 2 - 3 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 และครูที่ปรึกษางานวิจัยไม่เกิน 1 คนต่อ 1 งานวิจัย เงินรางวัลสำหรับผลงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกรวมเป็นจำนวนกว่า 200,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตรสำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัล และเกียรติบัตรสำหรับคณะผู้วิจัยที่เข้าร่วมการประชุมนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระดับโรงเรียน ประจำปี 2561 โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลจะได้รับโอกาสเข้าร่วมการนำเสนอผลงานวิจัยในโครงการ GLOBE Student Exchange Program และได้เข้าร่วมกิจกรรม Regional GLOBE Learning Expedition (RGLE) ณ ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
สำหรับผลการคัดเลือกงานวิจัยทีได้รับรางวัล แบ่งเป็น ประเภทแรกเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยแบบปากเปล่า ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประถมศึกษาได้แก่ โรงเรียนเทศบาลคูหาสวรรค์ ผลงานเรื่อง “สมบัติดินและการเจริญเติบโตของพริก Capasicium frutescens L.ในพื้นที่ตำบลพญาขัน อ.เมือง จังหวัดพัทลุง” รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม ผลงานเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพน้ำในลุ่มแม่น้ำฮาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่,ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่โรงเรียน ดาราวิทยาลัย ผลงานเรื่อง “การศึกษาลักษณะพื้นที่ที่ส่งผลต่อภาชนะการเก็บน้ำและจำนวนลูกน้ำยุง”
ส่วนระดับมัธยมต้น รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผลงานเรื่อง “การศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางกายภาพที่มีผลต่อจำนวนประชากรและการตอบสนองของปลาตีนบริเวณชายเลนอ่าวไทยตอนบนรูป ก.7 จังหวัดเพื่อพัฒนาโปรแกรมจำนวนประชากรของปลาตีนจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ (HPR)” ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ดอนจานวิทยาคมจากผลงานเรื่อง “ศึกษาคุณภาพน้ำจากแหล่งที่รองรับพื้นที่ทางการเกษตรและใช้พืชลอยน้ำบางชนิดปรับปรุงคุณภาพน้ำ และรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีมโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จากผลงาน “ปัจจัยที่มีผลต่อค่ารังสีอัลตราไวโอเลตในอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียงจังหวัดเชียงใหม่”
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนดอนจานวิทยาคม ผลงานเรื่อง “ศึกษาภาวะเสี่ยงการระบาดของไข้เลือดออกในเขตอำเภอดอนจานเพื่อประดิษฐ์อุปกรณ์ตัดวงจรชีวิตยุง” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ผลงานเรื่อง “การศึกษาชนิดของผู้ล่าลูกน้ำยุงและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความอุดมสมบูรณ์ของผู้ล่าในพื้นที่ของจังหวัดตรัง” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมโรงเรียนชุมแพศึกษา ผลงานเรื่อง “การศึกษาความสัมพันธ์ของความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิของอากาศกับชนิดและปริมาณของแมลงศัตรูข้าว”
สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ ระดับประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์โยเซฟทิพวัล ได้รับรางวัลโปสเตอร์ดีเด่น จากผลงานเรื่อง “ผลของการใช้ธัญพืชเป็นวัสดุคลุมดินมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นดป๊ยเซียนในกระถามประหยัดน้ำ” และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถมศึกษา ได้รับรางวัล “ขวัญใจมหาชน” จากผลงานเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพน้ำในลุ่มแม่น้ำฮาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทีมโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ได้รับรางวัล โปสเตอร์ดีเด่น จากผลงานเรื่อง “การบำบัดน้ำเสียโดยใช้ผงแทนนินจากเปลือกเงาะ” และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียน สงวนหญิง ได้รับรางวัลโปสเตอร์ดีเด่น จากผลงานเรื่อง “การศึกษาและเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของวัสดุปลูกพืชจากกาแฟที่เหมาะสมต่อการใช้แทนดินปลูก”