สกศ. ถอดโมเดลอะคิตะพัฒนาเด็กไทย มุ่งเน้นให้นักเรียนรู้จักสังเกต เรียนเอง - คิดเป็น - สื่อสาร - ทบทวนเนื้อหา
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สกศ. ให้การต้อนรับ มร.ซูซูมุ โยเนตะ (Mr.Susumu Yoneta) ศึกษาธิการจังหวัดอะคิตะ และคณะเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาหารือความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้การสอนเชิงรุกอะคิตะโมเดล (AKITA Model) ใช้ในประเทศไทย โดยการสอนเชิงรุกแบบอะคิตะ (Akita Action) เป็นรูปแบบการสอนที่พัฒนามาจากการเรียนรู้บนพื้นฐานของปัญหา โดยมีขั้นตอนของการจัดกิจกรรม 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. รู้จักตั้งข้อสังเกตในการเรียนรู้ 2. มีความคิดเป็นของตนเอง 3. อภิปรายกันเป็นคู่/กลุ่ม/ชั้นเรียน และ 4. ทบทวนเนื้อหาและการเรียนรู้ โดยวิธีการดังกล่าวมุ่งให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่านการคิดด้วยตนเองและการสนทนาโต้ตอบ กระบวนการนี้ริเริ่มจากการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการของครูผู้สอนในลักษณะของชุมชนผู้ปฏิบัติ เริ่มจากครูวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษา แล้วพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะขึ้นมาอย่างโดดเด่น ซึ่งสามารถทำให้ผลคะแนนการสอบ PISA ของนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดอะคิตะสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ สกศ. ดำเนินการวิจัยรูปแบบการใช้กลยุทธ์เชิงรุกดังกล่าวมาระยะหนึ่ง พร้อมนำอะคิตะโมเดลมาศึกษาในสถานศึกษาทดลองประเทศไทย จำนวน 4 แห่ง ในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนราชมนตรี และ โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ และพื้นที่จังหวัดนนทบุรี 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ และ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวิชาการอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาประเทศไทย
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กล่าวว่า จากการหารือคณะผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดอะคิตะ ทาง สกศ. เห็นถึงความสำคัญ 4 ขั้นตอนของอะคิตะโมเดล ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาการเรียนรู้ผ่านวิธีมองและวิธีคิด อย่างไรก็ตาม ครูคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาการเรียนการสอนของจังหวัดอะคิตะที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับบทบาทครูที่จะต้องพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการสอน การคิดกิจกรรมร่วมกัน การตั้งหัวข้ออภิปรายต่างๆ เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันแก้ปัญหาในชั้นเรียนของครูอย่างสม่ำเสมอ โดย สกศ. จะเร่งสรุปสาระสำคัญงานวิจัยอะคิตะโมเดลรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดทำนโยบายการศึกษาต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ผู้วิจัยแนวทางอะคิตะโมเดล กล่าวว่า จากการวิจัยและศึกษาข้อค้นพบของคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดอะคิตะที่พบว่ามี 5 ปัจจัยความสำเร็จที่จะทำให้การเรียนการสอนเชิงรุกแบบอะคิตะได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 1. ภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อนำการทำงานเป็นทีม 2. ความร่วมมือของครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น 3. ความร่วมมือระหว่างองค์กรทางการศึกษาที่มีความเข้มแข็ง 4. บทบาทของคณะกรรมการการศึกษาที่มีแนวคิดเชิงรุกการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ และ 5. การใช้อะคิตะโมเดลเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะผู้วิจัยมีแนวคิดไปในแนวทางเดียวกันว่า อะคิตะโมเดล มีความน่าสนใจ เพราะมีหลักการและกระบวนการดำเนินงานที่ดี ภายใต้แนวคิดการสอนเด็กได้อ่าน คิด และเขียนด้วยตนเอง รู้จักมีจิตสำนึกรับผิดชอบ และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อน ซึ่งจะช่วยเติมเต็มในสังคมการเรียนของเด็กไทย และมองเห็นประโยชน์ในการรับแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จจะปรากฏชัดเจนในช่วง 3 ปี ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กไทย และจำเป็นต้องประเมินและปรับปรุงการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา