ปี 2561 เป็นปีที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างเต็มที่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับคนไทยทั้งประเทศ หลังจากที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในด้านการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยวทำได้ดี และทุกวันนี้กำลังออกดอกออกผล ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังขาดก็แต่เศรษฐกิจในระดับฐานรากที่ยังไม่ฟื้นตัวดี และเป็นโจทย์ท้าทายความสามารถของรัฐบาลในปี 2561
ทันทีที่รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงพาณิชย์ได้รับนโยบายและแปลงลงสู่ภาคปฏิบัติทันที โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่คนไทย โดยเฉพาะประชาชนที่ได้ลงทะเบียนคนจนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ 2560 ที่มีจำนวน 11.43 ล้านคนทั่วประเทศเป็นอันดับแรก
สำหรับหน่วยงานที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในขณะนี้ ถ้าไม่พูดถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคงไม่ได้ เพราะล่าสุดมีแผนงานช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยออกมาแบบจัดเต็ม ชนิดที่เรียกว่าสามารถเลือกอาชีพที่ตัวเองสนใจกันได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย ทั้งขายออฟไลน์และออนไลน์ หรือหากอยากจะเป็นนักธุรกิจ ก็มีโครงการฝึกอบรม พัฒนา และถ้าไม่มีเงินลงทุน ก็มีการประสานแบงก์ให้เข้ามาช่วยปล่อยเงินกู้ให้ด้วย
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือและสร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยออกมาแล้วหลายโครงการ ซึ่งบางโครงการได้ดำเนินการไปแล้ว และบางโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ทุกโครงการสามารถตอบโจทย์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่คนไทยตามนโยบายรัฐบาลได้
โครงการแรกที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ก็คือ การจัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่รัฐบาลได้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการซื้อสินค้า ซื้อก๊าซหุงต้ม ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟรี โดยกรมฯ ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ นำแฟรนไชส์มาให้ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปได้เลือกซื้อเพื่อไปทำเป็นธุรกิจ
สำหรับแฟรนไชส์ที่นำมาให้เลือกไปทำธุรกิจมีประมาณ 50 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อธุรกิจอยู่ที่ 10,000-50,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีราคาไม่สูงมาก เหมาะสำหรับผู้จะเริ่มต้นธุรกิจแต่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เช่น แบรนด์พิซซ่าอาหม่วย, แหม่ม ซาลาเปาลาวา, โจ๊กแต้จิ๋ว, กิมซุนหมูปิ้งประเทศไทย, ร้านประจำ Delivery, ตำระวิง mini, อาโกกาแฟโบราณ, เต้าหู้ลุงเหน่ง, ชาตันหยง, สุขอุทัย ผัดไทแฟรนไชส์, Laundry Care Mini, The hen Noodle, น้ำหอมกัลยา, อร่อยจัง, ลูกชิ้นพิษณุโลก ราม่า, สเต็กขั้นเทพ, นมเหนียว ปังปิ้ง, ไจแอ้นลูกชิ้นระเบิด, ซูโม่ลูกชิ้นปลาระเบิด, อู้ฟู่ลูกชิ้นปลาเยาวราช, ราชาหมูระเบิด และชาบังนัน เป็นต้น
ไม่เพียงการคัดแฟรนไชส์ขนาดเล็กมาให้เลือกซื้อไปทำธุรกิจ ยังได้ร่วมมือกับธนาคารออมสินในการพิจารณาให้สินเชื่อ และดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้สนใจและผู้มีรายได้น้อยที่จะลงทุนในระบบแฟรนไชส์ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพราะถ้ากู้ต่ำกว่า 2 แสนบาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน และคิดดอกเบี้ย 0% ต่อเดือนในปีแรก ปีต่อไปคิด 0.50-1.00% ต่อเดือน
ทั้งนี้ ในปี 2561 กรมฯ มีแผนที่จะจัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ กระจายไปยังส่วนภูมิภาคทุกภูมิภาค เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปที่สนใจจะลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์ ได้มีโอกาสเลือกซื้อแฟรนไชส์ไปทำธุรกิจด้วย
นางกุลณีกล่าวว่า โครงการต่อมาที่อยู่ระหว่างการจัดทำ และจะเปิดตัวโครงการในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 อีก 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการสร้างอาชีพ คือ โครงการสร้างอาชีพร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยกรมฯ จะเข้าไปช่วยพัฒนาต่อยอดความรู้ด้านการทำธุรกิจให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอาชีพกับโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร และศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครมาแล้ว เช่น การประกอบอาหาร เสริมสวย นวดแผนโบราณ ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ประปา อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ เพราะคนเหล่านี้แม้จะได้เรียนรู้อาชีพแล้ว แต่อาจจะยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร หรือทำอะไรก่อนหลัง กรมฯ จึงจะเข้าไปช่วยอุดช่องว่างตรงจุดนี้ให้เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้
เบื้องต้นจะเน้นการฝึกทำธุรกิจร้านอาหารและเสริมสวยก่อน โดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจเข้าไปให้ทักษะความรู้ เทคนิคเฉพาะด้านในการทำธุรกิจในระยะเวลาสั้นๆ เช่น การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งของธุรกิจ การคำนวณต้นทุน การตลาด การจัดทำบัญชีธุรกิจแบบง่ายๆ การวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า หรือการใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงลูกค้า เป็นต้น ตั้งเป้าฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย
ส่วนอีกโครงการ เป็นโครงการสร้าง “แม่บ้านมืออาชีพ” โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสมาคมธนาคารไทย ทำการเพิ่มทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่สนใจจะทำอาชีพแม่บ้าน โดยจะเข้าไปช่วยพัฒนาความรู้และทักษะที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และตรงตามความต้องการของภาคเอกชนที่จะใช้บริการ และหลังจากผ่านการฝึกอบรมแล้ว สมาชิกสมาคมโรงแรมไทยยังพร้อมที่จะพิจารณารับเข้าไปทำงานด้วย โดยโครงการนี้ตั้งเป้าจำนวน 2,000 ราย
นางกุลณีกล่าวว่า กรมฯ ยังจะจัดทำโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอื่นๆ อีก เช่น โครงการพัฒนาร้านค้าชุมชนสู่ไฮบริด โดยจะเข้าไปช่วยพัฒนาร้านค้าชุมชนที่ก่อนหน้านี้กรมฯ ได้พัฒนาต่อยอดจนเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐแล้ว ให้มีขีดความสามารถในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยจะช่วยยกระดับการบริหารจัดการร้านค้า โดยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในระบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ร้านค้ามีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้น ตั้งเป้าพัฒนาร้านค้าชุมชนได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ร้าน
นอกจากนี้ มีแผนที่จะพัฒนาและยกระดับร้านอาหารภายในประเทศ โดยจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำการคัดเลือกร้านอาหารในประเทศไทยที่ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนด และจะมอบตรา Thai SELECT ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับร้านอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและจดจำในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ เพราะร้านอาหารที่ได้รับตรา Thai SELECT จะเป็นการการันตีว่าเป็นร้านที่ดี มีมาตรฐาน และเมื่อมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าไปบริโภคเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ร้านอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อการจ้างงาน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นางกุลณีกล่าวว่า สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ กรมฯ ได้ร่วมมือกับตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) และผู้ประกอบการ e-Commerce รายใหญ่เข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนให้ใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ในการทำตลาดและกระจายสินค้า เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถค้าขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้อย่างน้อย 10,000 ราย และสร้างยอดขายได้มากกว่า 500 ล้านบาท
“กรมฯ จะร่วมมือกับตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและเข้าไปช่วยพัฒนา โดยจะเน้นการสร้างเรื่องราวให้กับตัวสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการมีอยู่แล้วมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค การใช้ช่องทาง e-Marketplace ในการขยายตลาด และการใช้ช่องทางออนไลน์ใหม่อย่างสมาร์ทโฟนเข้ามาช่วยในการค้าขายออนไลน์” นางกุลณีกล่าว
นอกจากนี้ ได้กำหนดจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าออนไลน์ เช่น การจัดงาน Thailand Online Mega Sale, e-Commerce Festival และ Offline 2 Online Expo ซึ่งงานฯ ดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดออนไลน์ด้วย