สำนักการสังคีต - จิตอาสา รวมใจฝึกซ้อมการแสดงหุ่นหลวงและหุ่นกระบอก น้อมรำลึกในหลวง รัชกาลที่ ๙
วันนี้ (6 ต.ค.) ที่โรงละครแห่งชาติ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดซ้อมการแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเป็นการซ้อมการแสดงหุ่นหลวง หุ่นกระบอก เวทีที่ 2 มีผู้แสดง และผู้บรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต และจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมซ้อมการแสดง ภายใต้การควบคุมของ นายชวลิต สุนทรานนท์ นักวิชาการละครและดนตรีทรงคุณวุฒิ ในฐานะประธานการแสดงมหรสพ เนื่องในงานพระราชพิธี
นายชวลิต กล่าวว่า การซ้อมการแสดงหุ่นหลวงและหุ่นกระบอก โดยภาพรวมคืบหน้ากว่า 70% เหลือเก็บรายละเอียดเรื่องของการเชิดหุ่นหลวง การร่ายรำ เคลื่อนไหวท่วงท่าตามรูปแบบนาฏศิลป์ไทย และมีความพร้อมเพรียง ซึ่งผู้เชิดจะต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก หุ่นหลวงเป็นมหรสพที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่สูญหายไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากตัวหุ่นมีขนาดใหญ่ มีเส้นใยที่ใช้เชิดจำนวนมาก ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถสูงเรื่องการรำ ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้มารื้อฟื้นศึกษาและให้สำนักช่างสิบหมู่จัดสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี 2559 จำนวน 3 ตัว ประกอบด้วย หุ่นพระ หุ่นนาง และ หุ่นหนุมาน ซึ่งในงานมหรสพสมโภชครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสืบทอดมหรสพหุ่นหลวงนับแต่เลือนหายไป อีกทั้งผู้เชิดในการแสดงนี้ได้ศึกษาวิธีเชิดหุ่นจากครู อาจารย์ที่มีประสบการณ์
สำหรับ การแสดงหุ่นกระบอก จะแสดงเรื่องพระอภัยมณี ตอนสุดสาครจับม้ามังกร โดยมีข้าราชการสำนักการสังคีต ข้าราชการเกษียณ และจิตอาสาที่มีความรู้เรื่องการเชิดหุ่นกระบอกกว่า 50 คน บรรเลงดนตรีไทยและขับร้องโดยสำนักการสังคีต และข้าราชการวิทยาลัยนาฏศิลป สบศ. เพลงที่ใช้มาจากละครดึกดำบรรพ์ ที่สำคัญ ช่วงท้ายหุ่นกระบอกมีการแสดงชุดอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประพันธ์บทขึ้นใหม่ โดย นายสมรัตน์ ทองแท้ นักวิชาการละครและดนตรี บรรจุเพลงโดย นางพัฒนี พร้อมสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญการละครและดนตรี มีการขับร้องประสานเสียงบทเพลงที่มีเนื้อหาและท่วงทำนองที่กินใจประกอบการแสดงหุ่นกระบอก ทั้งนี้ ในการแสดงหุ่นหลวงจะแสดง 20 นาที หุ่นกระบอก 40 นาที
นายกมล การกิจเจริญ ครูอัตราจ้างโรงเรียนกาญจนาภิเษก วิทยาลัยนครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) ในฐานะผู้กำกับการสร้างหุ่นหลวงและวิธีการร้อยเชือกหุ่นหลวง กล่าวว่า กรมศิลปากรจัดทำโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์งานหุ่นหลวง เป้าหมายเพื่อให้ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักเพื่อชาวไทยทุกคนได้ทอดพระเนตรว่าหุ่นหลวงที่กำลังจะสูญหาย ได้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อทรงเสด็จสวรรคต กรมศิลปากรนำมาแสดงมหรสพ ตามโบราณราชประเพณี ทั้งนี้ หุ่นหลวงจะแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า มีการแสดงหุ่นหลวงครั้งสุดท้ายในงานออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้น ไม่พบข้อมูลว่ามีการจัดแสดงที่ใดอีก อาจเพราะช่วงนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม การแสดงหุ่นหลวงจึงค่อยๆ เลือนหาย ในงานออกพระเมรุมาศในหลวง ร.๙ จึงรื้อฟื้นนำหุ่นหลวงกลับมาจัดแสดงอีกครั้ง
“หุ่นหลวงถือเป็นเครื่องราชูปโภค หนึ่งในการแสดงพระบารมีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งประกอบด้วย หนังใหญ่ โขน หุ่นหลวง และ ละครใน หุ่นหลวงเป็นหุ่นในราชสำนักต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวหุ่นจะบังคับการเคลื่อนไหวด้วยเส้นใยโยงที่ร้อยเรียงกัน การจัดสร้างหุ่นหลวงครั้งนี้ยึดแบบตามตำราการสร้างหุ่นหลวงแบบโบราณ” นายกมล กล่าว