xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มสาว 8 ชนเผ่าฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ถวายเป็นพุทธบูชาบุญออกพรรษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - หนุ่มสาว 8 ชนเผ่านครพนม ร่วมสืบสานประเพณีฟ้อนบูชาพระธาตุพนม เนื่องในวันออกพรรษา ท่ามกลางความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ต.ค.) ที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวไทย ชาวลาว ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมประกอบพิธีถวายเครื่องบูชา และฟ้อนบูชาพระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวนครพนม เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปะสร้างไว้ตามความเชื่อพื้นถิ่น

โดยเป็นพระธาตุที่มีเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง และเมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลออกพรรษา ประชาชนที่ให้ความเคารพสักการบูชาก็จะร่วมกันนำดอกไม้ ธูปเทียน รวมถึงการร่ายรำ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุพนม

สำหรับการร่ายรำที่อ่อนช้อยสวยงามในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย การฟ้อนบูชาพระธาตุพนม เป็นการฟ้อนรำที่นำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนม ทำนองสรภัญญะ และวงดนตรีมโหรี มาผสมผสานกัน เพื่อกล่าวถึงตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับองค์พระธาตุพนม, การฟ้อนศรีโคตรบูรณ์ เป็นการร่ายรำที่ผสมผสานระหว่างรำเซิ้งอีสานที่มีความสนุกสนาม กับการฟ้อนรำภูไท ซึ่งมีเอกลักษณ์ของท่ารำ คือ ยกสูง ก้มต่ำ รำกว้าง ผสมผสานกับดนตรีพื้นเมืองอีสานที่มีความไพเราะอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อกระตุ้นให้ระลึกถึงความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์, การฟ้อนผู้ไทย เป็นการร่ายรำที่บ่งบอกถึงการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาวซึ่งไม่เหมือนใครของชาวผู้ไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม


ซึ่งจะแสดงในเทศกาลที่สำคัญต่างๆ เช่น การฟ้อนขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การฟ้อนสมโภชงานบุญมหาชาติ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนเองและครอบครัว, การฟ้อนหางนกยูง เป็นการร่ายรำบวงสรวงเจ้าพ่อหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอพรให้มีชัยชนะและคลาดแคล้วจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง โดยเป็นการดัดแปลงท่ารำมาจากการรำไหว้ครูของนักรบสมัยก่อน ให้มีความอ่อนช้อยงดงามเหมือนท่านกยูงรำแพน ประกอบกับดนตรีไทยและดนตรีพื้นเมือง, การฟ้อนไทญ้อ เป็นการร่ายรำที่แสดงออกถึงการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี และสาดน้ำกันของหนุ่มสาว

การฟ้อนขันหมากเบ็ง เป็นการฟ้อนถวายเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยขันหมากเบ็งเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่งของชาวอีสานที่ประดิษฐ์จากใบตอง มีลักษณะเป็นพานพุ่ม ประกอบไปด้วยเครื่องบูชา 5 อย่างๆละ 5 คู่ ได้แก่ หมาก พลู ธูป เทียน ข้าวตอก และดอกไม้





กำลังโหลดความคิดเห็น