xs
xsm
sm
md
lg

“มโนราห์โรงครู” พิธีกรรมซึ่งล้วนแล้วมีที่มาที่ไป ญาติพี่น้องหลั่งไหลรำลึกถึงบรรพบุรุษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ที่บ้านของ นายประสิทธิ์ เพชรเชิงเขา อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านซาเมาะ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งได้มีการจัดทำพิธี “มโนราห์โรงครู” ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เหล่าลูกหลานผู้สืบเชื้อสาย “มโนราห์” ได้ถือปฏิบัติ และทำกันมาในทุกปี รวมเป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว
 
สำหรับผู้ที่เดินทางมาร่วมในพิธี “มโนราห์โรงครู” นอกจากจะมีเหล่าลูกหลานของผู้สืบเชื้อสายมโนราห์แล้ว ยังมีบรรดาผู้สืบเชื้อสายต่างเครือญาติ ทั้งไทยพุทธ และมุสลิม เดินทางมาร่วมในพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน
 
โดยในช่วงเช้า ทางลูกๆ หลานๆ จะจัดทำเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และเครื่องไหว้เจ้าที่เจ้าทาง เพื่อทำการบอกกล่าว ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิต ณ บริเวณการทำพิธี พร้อมทั้งปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ภูตผีปีศาจ ดวงวิญญาณไร้ญาติที่เร่ร่อนให้ออกห่างจากการทำพิธี เพื่อเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ “ครูหมอมโนราห์” ได้กลับมารับเครื่องเซ่นไหว้ของลูกหลาน ที่จัดเตรียมไว้ให้ เพียงแค่ปีละ 1 ครั้ง
 

 
ซึ่งเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ “ครูหมอมโนราห์” นั้น จะมีทั้งอาหารคาว หวาน ข้าวตอก ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องดื่ม จัดไว้เป็นสำรับ ให้เพียงพอต่อผู้ที่เข้าทรงเป็น “ครูหมอมโนราห์” ซึ่งในปีนี้มีผู้ที่เป็นครูหมอมโนราห์ จำนวน 8 คน ทางลูกหลานจึงได้จัดเครื่องเซ่นไหว้ไว้ 8 สำรับ
 
ขณะที่ “ครูหมอใหญ่” หรือผู้ที่สืบทอดเชื้อสายครูหมอมโนราห์ ที่มีความรู้ และวิชาแก่กล้าจะทำพิธีจัดแต่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายภายในห้องทำพิธี โดยมีโต๊ะหมู่บูชา มีสิ่งของสำหรับไหว้บรรพบุรุษ เรียนเชิญครูหมอใหญ่ให้มาทรงร่างเพื่อทำพิธี โดยครูหมอใหญ่ผู้นี้จะมีสิ่งของติดตัวที่เป็นอาวุธคู่กายด้วยกัน 3 อย่าง คือ กริช ขวาน และฉมวก
 

 
การแต่งองค์ทรงกายของครูหมอใหญ่มโนราห์นั้น ผู้ที่รับหน้าที่เป็นไปตามความประสงค์ของครูหมอใหญ่ที่จะมาทรงร่างผู้ที่มีความรู้ วิชาแก่กล้าจากการสืบเชื้อสาย จะมีการกราบไหว้ ขอขมา การอ่านคำบูชา เพื่อขอทำพิธี และแม้แต่การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ใหม่ นุ่งผ้าถุงโจงกระเบน ประพรมน้ำหอมทั่วร่าง และกล่าวบูชาอันเชิญ “ครูหมอใหญ่มโนราห์”
 
ซึ่งพิธีกรรมต่างๆ ล้วนมีความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในการให้เคารพ และบูชา “ครูหมอมโนราห์” ของบรรดาลูกหลานผู้สืบเชื้อสาย และต้องมีการจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ให้มีความพร้อม
 

 
ขณะที่โรงมโนราห์ ซึ่งเป็นเพิงไม้ หลังคามุงด้วยตับจาก ตั้งด้วยเสาไม้ทั้งต้น ตรงกลางเป็นลานกว้าง ข้างในโรงมโนราห์จะเป็นชั้นวางของเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และมีเสาไม้ขนาดไม่ใหญ่ปักไว้สำหรับครอบเทริด หน้าชั้นวางเครื่องเซ่นไหว้ อีกทั้งมุมซ้ายและขวาของโรงมโนราห์ จะมีการวางธูปเทียน หมากพลูไว้ตามรูปแบบของการไหว้ “ครูหมอมโนราห์”
 
หลังจากที่ “ครูหมอใหญ่” หรือ “ครูหมอมโนราห์” ซึ่งได้ทำพิธีอันเชิญดวงวิญญาณ ปู่ทวดมโนราห์ ที่เรียกว่า ครูหมอใหญ่ มาลงร่างทรงแล้ว สังเกตได้จากจะมีลีลาการร่ายรำ ท่วงท่าของมโนราห์ที่ดูน่าเกรงขาม แต่พลิ้วไหวงดงามในแบบฉบับพิธีกรรมสมัยโบราณ
 

 
จากนั้น “ครูหมอใหญ่” จะออกไปร่วมพิธี ณ โรงมโนราห์ ที่มีครูหมอมโนราห์คนอื่นๆ รออยู่ รายล้อมไปด้วยเครื่องดนตรีโหมโรงมโนราห์ ทั้งปี่ชวา กลองแขก ทับ ฆ้อง และโหม่ง ซึ่งจะมีผู้เล่นเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เป็นพี่น้องเครือญาติ ทั้งพุทธ และมุสลิมที่สืบเชื้อสายกันมา กลายเป็นภาพแปลกตาที่ไม่คุ้นชิน และหาดูได้ยากยิ่งสำหรับพิธีกรรม “มโนราห์โรงครู” ณ ที่แห่งนี้ 
 
นายประสิทธิ์ เพชรเชิงเขา อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 หนึ่งใน “หมอมโนราห์” เล่าให้ฟังว่า การใช้ชีวิตปกติธรรมดา ในทุกๆ วัน ก็จะไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากคนธรรมดา เพียงแต่ตนเองเป็นผู้สืบเชื้อสายมโนราห์มาจากรุ่นปู่ สืบเนื่องมาจากรุ่นบรรพบุรุษ ที่เคยเป็นหมอมโนราห์มาก่อน และขาดช่วงไปในรุ่นพ่อ
 

 
เนื่องจากพ่อไม่ยอมรับเชื้อสายมโนราห์ จนทำให้ล้มป่วย พาไปหาหมอรักษาก็ไม่หาย กินข้าวไม่ได้อยู่หลายวัน จนสุดท้ายทางญาติในครอบครัวจึงได้คิด และลงความเห็นกันว่า พาไปให้หมอมโนราห์ดู เพื่อท่านจะชี้แนะแนวทางรักษาให้พ่อได้หาย 
 
ซึ่งตอนนั้นได้พาพ่อไปหาหมอมโนราห์ แล้ว ครูหมอมโนราห์ ก็บอกว่า ที่เป็นอย่างนี้ เพราะกรรมที่ไม่รับปากรับคำสืบเชื้อสายมโนราห์ ตนเองในฐานะลูกจึงได้ตกปากรับคำ รับสืบเชื้อสายมโนราห์ต่อจากรุ่นปู่ในทันที เพียงกล่าวคำนั้นจบ พ่อของตนจากที่นั่งไม่ได้ ก็ได้ลุกมานั่ง มาพูดจา ขอข้าวกิน ขอน้ำดื่ม มีเรี่ยวมีแรง และหายป่วยในทันใด ภายหลังจากพ่อหายป่วย ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยถึงกับล้มหมอนนอนเสื่ออีกเลย
 

 
การสืบเชื้อสายมโนราห์นั้นไม่ใช่ว่าใครจะเป็นก็ได้ เหมือนมีการกำหนด มีการถูกเลือกมาจากชาติตระกูล วงศ์ตระกูลมาแล้ว ว่าลูกหลานคนนั้นๆ ในรุ่นต่อๆ ไป ต้องเป็นผู้สืบเชื้อสาย แล้วเมื่อนั้นผู้ที่สืบทอดเชื้อสายก็จะสามารถทำทุกอย่างได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะขับร้องมโนราห์ การร่ายรำมโนราห์ ท่วงท่าการรำในรูปแบบของมโนราห์ มันเหมือนกับว่า บรรพบุรุษได้เลือกมาแล้ว
 
ทั้งนี้ หลังจากที่ “ครูหมอใหญ่” ออกจากห้องพิธีบูชา มาร่วม ณ โรงมโนราห์ ด้วยลีลาท่าทางที่น่าเกรงขาม บางครั้งก็ทำท่าทางหมอบคลาน และขึ้นยืน ปีนป่ายหลังคามุงจาก ใช้อาวุธประจำกาย ทั้งกริช ขวาน และฉมวก กวัดแกว่งไปมา ขณะที่ผู้คนที่เฝ้าดูพิธีกรรมต่างก็จ้องมองด้วยความสนอกสนใจ
 
 

 
นายประสิทธิ์ เพชรเชิงเขา ครูหมอมโนราห์ ยังเล่าอีกว่า ในพิธีกรรม “มโนราห์โรงครู” หลายอย่างล้วนแล้วแต่มีประวัติความเป็นมา เช่น ฆ้องคู่ ที่ใช้เป็นเครื่องดนตรีมโนราห์ ก็มีประวัติเล่ากันมาว่า ฆ้องคู่ดังกล่าวทำด้วยโลหะหนัก แต่กลับลอยมาตามแม่น้ำสายบุรี และมีผู้ไปพบเก็บมาได้ ซึ่งผู้ที่พบได้นำฆ้องนั้นมามอบให้แก่วงมโนราห์
 
ขณะที่โรงมโนราห์ ที่มุงด้วยตับจาก บรรดาญาติเคยคิดที่จะเปลี่ยนไปมุงด้วยหลังคาสังกะสี หรือกระเบื้อง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากครูหมอมโนราห์ ต้องการให้มุงหลังคาตับจาก ขณะที่ไม้ไผ่รอบโรงมโนราห์นั้นก็นำไผ่ทั้งต้น มาผูกมัดกั้นไว้รอบโรง ห้ามบุคคลอื่นขึ้นเหยียบโดยเด็ดขาด
 

 
นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่าให้ฟังว่า อาวุธประจำกาย “ครูหมอใหญ่” ที่มีทั้งกริช ขวาน และฉมวก นั้น ล้วนแต่ได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษทั้งสิ้น กริชที่เป็นลักษณะเหมือนมีด หรือดาบ เป็นอาวุธของชาวมุสลิมนั้นก็ได้รับสืบทอด มีผู้นำมาให้ และสืบทอดต่อกันมา โดยเฉพาะฉมวกแหลมคม ก็เคยใช้แทงจระเข้จริงๆ มาแล้ว 
 
ภายหลังการทำพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษ หน้าทับที่ตั้งเครื่องเซ่นไหว้ และกราบไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเป็นศาลพระภูมิใกล้โรงมโนราห์แล้ว ครูหมอมโนราห์ ที่ลงสู่ร่างทรงครูหมอ ก็จะมีชาวบ้าน ญาติพี่น้อง และบุคคลทั่วไปที่มีความเชื่อมากราบไหว้ครูหมอในร่างทรง เพื่อขอดูโชคชะตา หรือสอบถามถึงบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว บางรายเจ็บป่วยตามร่างกายก็เข้ามาให้ครูหมอมโนราห์ ได้ทำการรักษา ซึ่งก็เป็นไปตามความเชื่อ วิถีปฏิบัติของชาวบ้าน และผู้สืบทอดเชื้อสาย “มโนราห์”
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น