xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสกลิ่นอายชายแดนใต้ “มโนราห์สองภาษา” ศิลปวัฒนธรรมที่หลงเหลือ ณ บ้านซาเมาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
“มโนราห์สองภาษา” ศิลปวัฒนธรรมที่หลงเหลือในชายแดนใต้ แม้จะแตกต่างด้านศาสนา แต่สืบเชื้อสายกันด้วยจิตวิญญาณ
 
ที่บ้านของผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านซาเมาะ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ได้ถูกตกแต่งโรงมโนราห์ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำพิธี “มโนราห์โรงครู” ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่ได้รับการสืบเชื้อสาย และสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น เป็นเวลายาวนานมากกว่า 80 ปี จวบจนถึงยุคปัจจุบัน ที่มีรุ่นลูกรุ่นหลานรับช่วงสืบต่อกันมา
 
นายประสิทธิ์ เพชรเชิงเขา อายุ 53 ปี นอกจากจะเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านซาเมาะ แล้ว ยังเป็น “ครูหมอมโนราห์” ที่ได้รับการสืบทอดศิลปะการแสดงดังกล่าวมาจากบรรพบุรุษ และได้เล่าถึงความเป็นมาของ “มโนราห์โรงครู” ที่บ้านซาเมาะ แห่งนี้ว่า
 

 
“มโนราห์โรงครู ถือเป็นวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ รุ่นปู่ย่าตายายมากว่า 60-70 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ความเชื่อ ความศรัทธา เพื่อให้ระลึกถึงบรรพบุรุษที่เคยสั่งสอนให้ความเคารพในการปฏิบัติ ถือเป็นขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อที่ถูกสืบทอดกันมาในแต่ละรุ่น ทั้งผู้ที่เป็นไทยพุทธ และมุสลิมก็เช่นกัน ต่างก็มีความเชื่อในเรื่องของครูหมอมโนราห์ ที่เหมือนกัน แม้ว่าจะต่างศาสนา แต่เป็นความเชื่อ และศรัทธาที่เหมือนกัน” นายประสิทธิ์ เพชรเชิงเขา กล่าว 
 
เมื่อสอบถามถึงความแตกต่างของการร่ายรำ หรือบทขับกล่อมของมโนราห์ ระหว่างคนไทยพุทธกับมุสลิมนั้น นายประสิทธิ์ เพชรเชิงเขา ได้ให้คำตอบว่า ความแตกต่างนั้นอาจจะเริ่มจากจุดเริ่มต้นครั้งแรกคือ การร่ายรำ และมีการแสดงมโนราห์ ที่อาจจะคล้ายคลึงกันในพื้นที่ของ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของสงขลา ซึ่งเชื่อว่าเมื่อก่อนในฉบับของการแสดงระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม การแสดงต่างๆ ที่ได้นำมารวมกันอาจจะเป็นเพราะอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ที่อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน จึงได้มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกัน ทั้งพี่น้องชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม
 

 
และเช่นเดียวกัน ในพื้นที่ของบ้านซาเมาะ แห่งนี้ ก็มีทั้งพี่น้องชาวไทยพุทธ และมุสลิมที่อยู่ร่วมกัน และถือปฏิบัติกันมากว่า 20 ปี ในขณะที่ตนเองก็เป็นผู้สืบทอดครูหมอมโนราห์ จากบรรพบุรุษ แต่จากการสอบถามรุ่นปู่ย่าตายายก็ทราบว่า มีการประกอบพิธีแบบนี้มามากว่า 80 ปีแล้ว
 
ทั้งนี้ ครูหมอมโนราห์ ณ บ้านซาเมาะ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา แห่งนี้ ถือเป็น “มโนราห์สองภาษา” ที่เดียว และแห่งเดียวในภาคใต้ก็ว่าได้ เนื่องจากในทุกปีที่มีการจัดพิธีครูหมอมโนราห์ ก็จะมีผู้สืบเชื้อสายในวงหมอมโนราห์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่ายรำ หรือแม้แต่นักดนตรีในวง ทั้งพี่น้องชาวไทยพุทธ และพี่น้องชาวมุสลิมจากทั่วทุกสาระทิศ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทราบข่าวก็จะพากันเดินทางมาร่วมในพิธีดังกล่าวในทุกๆ ปีอย่างสม่ำเสมอ
 

 
ทางด้าน นายอุดม แก้ววิเชียร นายโรงมโนราห์ อายุกว่า 75 ปี ชาว ต.บาลูกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นครูหมอมโนราห์ ที่มาร่วมงานพิธีในทุกปี และจะมีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นพี่น้องมุสลิมในเชื้อสายของมโนราห์ ต่างก็พากันมาร่วมพิธีในครั้งนี้ ซึ่งได้เล่าถึงความเป็นมา และประวัติของ “มโนราห์สองภาษา” ให้ฟังว่า
 
เริ่มต้นจากการรับช่วงต่อของครูหมอมโนราห์ คือ มโนราห์ช่วง และมโนราห์ทิพย์ ในขณะนั้น ซึ่งตนเองก็เป็นศิษย์มาจนถึงปัจจุบัน มโนราห์ช่วง ก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วน มโนราห์ทิพย์ ก็ชราภาพ เหลือเพียงตนเองที่เป็นลูกศิษย์ ก็ได้รับการเชื้อเชิญบอกกล่าวจากผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นครูหมอมโนราห์ ณ บ้านซาเมาะ แห่งนี้ให้เข้าร่วมพิธี ซึ่งก็ได้ดำเนินการมากว่า 16 ปีแล้ว โดยมีผู้คนทั่วไปที่ยังไม่เคยเห็น ก็ยังให้ความสนใจในการเข้าร่วมรับชมการทำพิธีครูหมอมโนราห์ กันอย่างคับคั่งในทุกปี
 

 
เพราะความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ “มโนราห์สองภาษา” ที่ตนเองทำอยู่นั้น จะเป็นการใช้บทพูดขับกล่อม ทั้งภาษายาวีพื้นบ้าน และภาษาไทยทางถิ่นใต้ สลับกันไปมา เพื่อให้พี่น้องที่เป็นทั้งชาวไทยพุทธ และมุสลิม ได้เข้าใจต่อการสื่อความหมายในการแสดงมโนราห์ นอกจากนี้ ในเครื่องดนตรีที่นำมาร่วมบรรเลงในโรงมโนราห์ ก็จะผสมผสานระหว่างนักดนตรีที่มีความชำนาญในแต่ละเครื่องดนตรี ทั้งฆ้อง โหม่ง ปี่ ซึ่งจะแฝงด้วยเครื่องดนตรีของเมาะโหย่ง หรือมะโหย่ง ร่วมด้วย
 
เมื่อสอบถามว่า จะมีผู้สืบทอดเชื้อสายศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ต่อไปอีกหรือไม่ นายอุดม แก้ววิเชียร นายโรงมโนราห์ ก็กล่าวว่า ถ้าหาครูหมอมโนราห์ หรือครูสีละ มะโหย่ง ที่มีความสามารถเก่งๆ ก็พร้อมจะสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง ซึ่งในคณะของตนเองก็มีทั้งครูสอนสีละ และมะโหย่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้มาแสดงร่วมกันในกลุ่ม “มโนราห์สองภาษา” แห่งนี้
 



 
ความเป็นมาของ “มโนราห์โรงครู” ณ บ้านซาเมาะ แห่งนี้ ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ความเป็นมาที่น่าอัศจรรย์ใจอีกอย่างหนึ่งคือ พิธีทรงครูหมอมโนราห์ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นที่มีกันมาอย่างยาวนาน
 
นอกจากนี้ ความแตกต่างที่ได้รับการสืบทอดมาอีกหนึ่งอย่างจากมโนราห์ของบรรพบุรุษ กับมโนราห์รุ่นปัจจุบันก็คือ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับประดาตามร่างกาย ที่เห็นจะมีความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจนคือ เครื่องแต่งกายสมัยก่อนจะมีการใช้ลูกปัด เพชร พลอย เย็บบนเนื้อผ้า ให้มีความสวยงาม และเป็นแบบชิ้นเดียวทั้งชุด ซึ่งผู้ที่จะมาเป็นมโนราห์ จะต้องสวมใส่เครื่องแต่งกายดังกล่าวทั้งชุดแบบไม่แยกชิ้นจากกัน ส่วนเครื่องแต่งกายของมโนราห์ปัจจุบันนั้น มีการเย็บ รอยลูกปัด แยกในแต่ละชิ้นส่วนของร่างกาย จึงทำให้ความงดงาม และความน่าเลื่อมใสนั้นแตกต่างกันออกไป
 
การจัดพิธีไหว้ครู ก่อนจะเริ่มมโนราห์โรงครู เพื่อเป็นบทสรุปที่พอจะเข้าใจได้คือ การทำบุญระลึกถึงบรรพบุรุษเชื่อสายของมโนราห์ ที่สืบทอดกันมาทางจิตวิญญาณ และความเชื่อ โดยที่ “มโนราห์โรงครู” ที่บ้านซาเมาะ ก็มีผู้ใหญ่บ้านเป็นเชื่อสายของครูหมอมโนราห์ การจัดพิธีขึ้นในทุกปีนั้น จะร่วมกันพูดคุยกับญาติๆ และจัดขึ้นในช่วงข้างแรม แล้วแต่เดือนที่เห็นว่าเหมาะสม และจะมีพี่น้องเชื่อสายมโนราห์ ทั้งไทยพุทธและมุสลิมเดินทางมาร่วมกันทุกปีอย่างคับคั่ง
 

 
โดยข้าวปลาอาหารที่จัดทำให้เพื่อเลี้ยงผู้คนที่มาร่วมพิธีนั้น จะไม่มีเนื้อหมู ซึ่งพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลามก็สามารถจะรับประทานได้ อีกทั้งในวันสุดท้ายของพิธีก็จะมีการดูหมอมโนราห์ โดยจะมีครูหมอมโนราห์ ที่แต่ละคนมีเชื้อสายได้เข้าทรงครูหมอ ให้ผู้ที่เจ็บป่วย เจ็บไข้ ไม่สบาย ได้เดินทางเข้ามากราบไหว้ และทำการรักษาตามความเชื่อ
 
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนั้นชาวบ้านก็เชื่อว่า การรักษาโดยหมอมโนราห์ คือความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ผู้ป่วยบางรายที่เข้ารับการรักษาก็มีอาการที่ดีขึ้น หรือบางรายที่เจ็บป่วยมาตลอดไปหาหมอแผนปัจจุบันก็ไม่หายขาด แต่เมื่อมาหาหมอมโนราห์ ซึ่งได้เข้าทรงดูอาการก็ได้รับการบอกกล่าว และชี้แนะ ทำให้หายป่วยไปบ้างก็มี
 
อย่างไรก็ตาม “มโนราห์สองภาษา” ก็ถือเป็นศิลปะการแสดงพื้นที่บ้านของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลงเหลือจากผู้สืบทอดเพียงไม่กี่ราย และหาชมความเป็นอัตลักษณ์ร่วมกันของพี่น้องไทยพุทธและมุสลิมได้ยากยิ่งนักในปัจจุบัน ซึ่งมีเพียงที่บ้านซาเมาะ แห่งนี้เท่านั้นที่จะยังคงมีวิถีปฏิบัติที่เป็นเป็นธรรมเนียมในทุกปี
 



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น