xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นแล้ว! “ยายเนียม” ตำนานตัวแม่ “คณะลิเกป่าพันปี” เมืองคนดี จากไปอย่างสงบด้วยวัย 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ยายเนียม ชำนาญ นักแสดงตัวแม่ในคณะลิเกป่าคณะพันปี แห่ง จ.สุราษฎร์ธานี เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา ในวัย 100 ปี ลูกหลานตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านพัก กำหนดพิธีฌาปนกิจวันที่ 6 ส.ค.นี้

วันนี้ (28 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา คุณยายเนียม ชำนาญ นักแสดงที่มีอาวุโสสูงสุดในคณะลิเกป่า “คณะพ่วง ศรีวิชัย ศิลปินบันเทิง” หรือ “คณะลิเกป่าพันปี” แห่ง ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ได้เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 19.42 น. วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอายุ 100 ปี โดยลูกหลานได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านพักเลขที่ 54 ม.3 ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และจะมีพิธีฌาปนกิจในวันที่ 6 ส.ค.นี้ ณ วัดบางใหญ่ ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
 

 
สำหรับ คุณยายเนียม ชำนาญ รับบทเป็นนักแสดงตัวแม่ และตัวเสนา ในการแสดงลิเกป่า “คณะพ่วง ศรีวิชัย ศิลปินบันเทิง” ซึ่งเป็นคณะลิเกป่าที่มีสมาชิกนักแสดงในคณะทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ รวมอายุของนักแสดงในคณะทั้งหมดทุกคนแล้วไม่ต่ำกว่า 1 พันปี ลิเกป่าคณะนี้จึงถูกเรียกขานจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า “คณะลิเกป่าพันปี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลิเกป่า หรือลิเกบก หรือลิเกรำมะนา เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่นิยมแพร่หลายในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตรัง กระบี่ และพังงา การละเล่นชนิดนี้มีมานานเท่าไหร่ไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่เชื่อว่าเริ่มมีขึ้นที่จังหวัดตรัง แต่บางกระแสว่าเริ่มมีขึ้นที่เกาะตรีพญา จังหวัดกระบี่ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 จุดก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยันเด่นชัด
 

 
ลิเกป่า กับลิเกภาคกลางคงจะมีต้นเค้าร่วมกัน เพราะมีเอกลักษณ์สำคัญเหมือนกันคือ “ออกแขก” แต่ในระยะพัฒนาการได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมต่างกันจึงทำให้แตกต่างกันไป โดยลิเกป่า ได้รับอิทธิพลบางส่วนในด้านดนตรี และการแต่งกายจากมลายู รับอิทธิพลด้านทำนองเพลงร้องบางส่วนจากเพลงไทยเดิม และรับอิทธิพลการร่ายรำจากโนรา ท่วงท่าการแสดงของลิเกป่าจึงเป็นแบบผสมผสาน

การแสดงลิเกป่า เริ่มจากการลงโรง หรือโหมโรง โดยลูกคู่ และผู้แสดงส่วนหนึ่งนั่งล้อมวงกันบรรเลงดนตรีล้วนๆ เพื่อเรียกคนดู และให้ผู้แสดงได้เตรียมตัวให้พร้อม โดยจะเริ่มเล่นเพลงช้าแล้วค่อยเร่งจังหวะให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นจึงเป็นการ ว่าดอก ซึ่งเป็นการผลัดกันร้องทีละคน และรับพร้อมๆ กัน เวียนไปรอบวง เนื้อร้องมักจะเกี่ยวด้วยการชมความงามของผู้หญิง และพรรณนาความรัก
 

 
ลำดับต่อมา เป็นออกแขกแดง เป็นการแสดงเรื่องตามธรรมเนียม ทุกคณะแสดงเรื่องนี้เหมือนกันหมด บทร้อง และรับแล้วแต่จะคิดประดิษฐ์ขึ้น ส่วนทำนองเหมือนกันทุกคณะ เมื่อแสดงเรื่องแขกแดงตามธรรมเนียมจบลง เป็นการ บอกเรื่อง ซึ่งนิยมใช้ตัวตลกออกบอกกล่าวต่อผู้ชมว่าลำดับต่อไปลิเกป่าจะแสดงเรื่องอะไร เรื่องที่แสดงส่วนมากเป็นแบบจักรๆ วงศ์ๆ คิดขึ้นเองบ้าง เอามาจากวรรณคดีเก่าๆ บ้าง เช่น จันทโครพ ลักษณะวงศ์ สุวรรณหงส์ เป็นต้น

จากนั้นก็ เล่นเรื่อง คือ แสดงเรื่องไปตามเค้าเรื่องที่กำหนดไว้ ซึ่งการดำเนินเรื่องอาศัยความรู้เดิมและไหวพริบปฏิภาณของผู้แสดงทั้งหมด ไม่นิยมตระเตรียม หรือแต่งขึ้นไว้ก่อน

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของคณะลิเกป่าพันปีได้จาก 
“ลิเกป่า” ในคราที่ใกล้อวสาน http://astv.mobi/ADIshw8
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น