xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายประชาชนฯ จี้ “ลุงตู่” ยกเลิกโครงการ “ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” ในโอกาสเดินทางปฏิบัติภารกิจที่สตูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ยื่นหนังสือขอยกเลิกโครงการ “ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” และโครงการ “แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล” ถึงนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในโอกาสเดินทางเยือน และปฏิบัติภารกิจที่ จ.สตูล
 
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล อันเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาคนสตูล ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาในระดับจังหวัด ขอแสดงความยินดี และร่วมต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรี และคณะที่ได้เดินทางมาเยือน และมาปฏิบัติภารกิจที่ จ.สตูล ในครั้งนี้ ในโอกาสนี้ เครือข่ายสมัชชาคนสตูลได้ร่วมกันจัดนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานส่วนหนึ่งของภาคประชาชน จ.สตูล เพื่อสื่อให้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของจังหวัดเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อันเป็นที่ประจักษ์ถึงความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการวางดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.สตูล ดังนี้
 
1.ความมั่งคั่งบนฐานศักยภาพของพื้นที่ ภายใต้เศรษฐกิจ 3 ขา ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่อย่างทั่วถึง นั่นคือ
1.1 ด้านการเกษตร ที่มีทั้งพืชเศรษฐกิจ และพืชประจำถิ่นอย่างผลไม้หลากหลายชนิด
1.2 ด้านการประมง ที่มีทั้งการทำประมงขนาดใหญ่ และการประมงพื้นบ้านขนาดเล็กที่กระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่งทั้ง 4 อำเภอ
1.3 ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของคนในพื้นที่ ด้วยมีแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เช่น เกาะตะรุเตา เกาะหลีเป๊ะ หมู่เกาะอาดัง ราวี ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา อันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และยังมีความโดดเด่นของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงานในท้องถิ่นตนเอง เช่น สันหลังมังกร 9 ตัวอันโด่งดัง แหล่งธรณีวิทยาซากดึกดำบรรพ์ (fossil) มากมายหลายจุด ซึ่งกำลังถูกประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลก และล่าสุดคือ การค้นพบแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่กำลังเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด คือ “เกาะเขาใหญ่” ที่มีปราสาทหินพันยอด ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งผู้มาเยี่ยมชมจำนวนมากในรอบปีที่ผ่านมา เหล่านี้ล้วนเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน

2.ความมั่นคงทางด้านสังคม ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลายของศาสนาและวัฒนธรรม ถือเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คงไว้ซึ่งความสงบสุข ประชาชนมีความตื่นรู้ และตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และมีการทำงานร่วมกันได้ท่ามกลางความหลากหลายนี้ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องที่ และท้องถิ่นของพวกเราเองอย่างแข็งขัน

3.ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย ด้วย จ.สตูล เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติถึง 3 แห่ง และยังมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอีก 1 แห่ง ซึ่งถือเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ถึงความหลายหลายของแหล่งธรรมชาติ หรือแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญดังได้กล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะแหล่งทรัพยากรทางทะเล ที่มีความโดดเด่นในเรื่องปะการังอ่อน 7 สี ซึ่งมีมากที่สุดในฝั่งอันดามัน และยังเป็นสิ่งดึงดูดให้นักดำน้ำทั่วโลกเข้ามาเยี่ยมชมแหล่งปะการังเหล่านี้ และล่าสุด ที่ยูเนสโกกำลังรับรองให้สตูล เป็นแหล่งธรณีวิทยาของโลก หรือ Geo Park ด้วยมีการค้นพบว่า จ.สตูล มีแหล่งแหล่งโบราณคดี และแหล่งซากดึกดำบรรพ์หลายร้อยล้านปี มีการค้นพบซากกระดูกช้างแมมมอธ อันเป็นสัตว์โลกโบราณในดินแดนแห่งนี้ด้วย

สิ่งเหล่านี้ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ถึงต้นทุนที่ จ.สตูล มีอยู่ ซึ่งผ่านการสั่งสมมาอย่างยาวนาน และในห้วงเวลาการบริหารงานในรัฐบาลของท่านก็ได้ส่งเสริมให้เห็นถึงรูปธรรมของการพัฒนาจังหวัดแห่งนี้อย่างเห็นได้ชัด ภายใต้แนวความคิดรัฐบาลที่ต้องการเห็น “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” จนเป็นความประจักษ์ที่สามารถสัมผัสได้ในระดับพื้นที่ชุมชน และระดับจังหวัด
 
ในขณะที่รัฐบาลหลายสมัยที่ผ่านมา พยายามที่จะนำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มาให้ จ.สตูล ภายใต้แนวคิด “แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล” ที่ต้องการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง และลอจิสติกส์ระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ซึ่งจะต้องสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (บ้านสวนกง) และเชื่อมด้วยเส้นทางรถไฟรางคู่ และจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้ และเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคมวัฒนธรรม และด้านสิ่งแวดล้อมอย่างน่าเป็นห่วง ด้วยเชื่อว่าจะสร้างผลกระทบต่อมิติต่างๆ เหล่านี้อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
 

เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้เคยเสนอให้รัฐบาลหลายสมัย ทั้งรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้มีการทบทวนโครงการเหล่านี้ด้วยข้อกังวลดังที่ได้กล่าวไปแล้วเป็นการเบื้องต้น ที่สำคัญคือ การพินิจพิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน และชุมชนในพื้นที่ และความคุ้มค่าคุ้มทุนของโครงการดังกล่าวนี้ หากจะต้องแลกกับต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด อันพิสูจน์ได้ว่าคือความยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อประชาชนในพื้นที่
 
ซึ่งเรื่องนี้เครือข่ายฯ เคยเสนอรัฐบาลก่อนหน้านี้ให้ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะแนวคิดการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งสองฝั่งทะเลด้วยแนวคิด “แลนด์บริดจ์” หรือการขนส่งสินค้าผ่านทางบก ที่เชื่อว่าจะไม่สามารถตอบโจทย์การลงทุนได้อย่างแท้จริง เพราะแม้แต่รัฐบาลจีนที่ได้เข้ามาศึกษาถึงแนวทางดังกล่าวแล้ว กลับพบว่า แนวคิดการขนส่งสินค้าทางบก ด้วยการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ทั้งสองฝั่ง ไม่น่าจะเป็นทางออกของการลงทุนนี้ได้ และเชื่อว่าจะไม่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งรัฐบาลจะต้องคิดค้น หรือทบทวนแนวคิดการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมระหว่างมหาสมุทรเสียใหม่
 
พวกเราจึงคิดว่ารัฐบาลของท่านควรต้องคิด และวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างรอบด้าน ด้วยความละเอียดอ่อน และจะต้องคำนึงถึงการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งจะต้องไม่ใช่แนวทางการพัฒนาที่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมให้เพิ่มขึ้น และจะต้องเป็นไปตามแนวคิดของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “การพัฒนาจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
 
เราจึงขอเสนอให้ท่าน และรัฐบาลได้ทำการทบทวนแนวทางการพัฒนาดังกล่าวนั้น โดยการยกเลิกโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โครงการทาเรือน้ำลึกสงขลา 2 และโครงการรถไฟรางคู่ เชื่อมท่าเรือระหว่างสองฝั่งทะเล ทั้งนี้ เราขอเสนอให้รัฐบาลได้ออกแบบการพัฒนาจังหวัดสตูล ภายใต้ฐานศักยภาพที่มีอยู่จริง ดังที่ได้เสนอไว้แล้ว ด้วยความเชื่อว่าหากต้นทุนที่มีอยู่นี้ได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนอย่างเป็นระบบก็จะยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ หรือผลประโยชน์จากการพัฒนาที่คุ้มค่า และยั่งยืนให้แก่คนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
 
จึงเรียนมาพิจารณา ขอแสดงความนับถือ
(สมบูรณ์ คำแหง) คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
 
กำลังโหลดความคิดเห็น