บล. กสิกร เผยเตรียมปรับเป้าดัชนี SET Index เพิ่มขึ้น หลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มเป็นบวก จากการประเมิน GDP ปรับตัวขึ้นแตะ 3.5% และปัจจัยบวกจากต่างประเทศ
นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เปิดเผยว่า บล. กสิกร เตรียมที่จะทบทวนเป้าหมายดัชนี SET Index ของปีนี้ และเป้าหมายดัชนีความน่าจะเป็นในอนาคตจนถึงกลางปีหน้า ซึ่งอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่เป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,650 จุด บนคาดการณ์ P/E ตลาดอยู่ที่ 14.5 เท่า และอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 10.4% ด้วยปัจจัยหลัก คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือ GDP ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในระดับ 3.5%
“เงินทุนเคลื่อนย้าย หรือ Fund Flow มองว่า ปีนี้จะใกล้เคียงกับในอดีตที่เคยทำได้ที่ 300,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีเงินไหลเข้ามาแล้ว จำนวน 100,000 ล้านบาท โดยประเมินว่า ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้ จะเป็นช่วงของการเข้าซื้อ LTF และ RMF ของนักลงทุนสถาบัน (กองทุน) รวมถึงนักลงทุนต่างชาติด้วย ส่วนความเสี่ยงด้านการลงทุนในขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากตัวเลขการตั้งสำรองเงินระหว่างประเทศของจีนก็อยู่ในระดับสูง และจีนยังคงดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดอยู่ แม้ส่งออกของจีนปรับตัวลงเล็กน้อย ขณะที่ยุโรปเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และเรายังมองว่า ตลาดเป็นขาขึ้นอยู่โดยดัชนี SET Index น่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปมากกว่า 1,650 จุดได้”
ขณะเดียวกัน บล. กสิกรไทย มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังเป็นช่วงรับอานิสงส์บวกจากปัจจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายลงไป ตลอดจนถึงโครงการประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และโครงการงานต่าง ๆ ที่ยังค้างคาของภาครัฐ จำนวน 36 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 900,000 ล้านบาท ก็มีการเดินหน้าต่อ เช่น โครงการรถไฟฟ้าในสายเส้นทางสีต่าง ๆ, โครงการรถไฟรางคู่, โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยคาดว่าจะเห็นการทยอยประมูลโครงการตามแผนงานที่ได้วางไว้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งประเมินมูลค่ารวมของโครงการขนาดใหญ่แล้วไม่น้อยกว่า 450,000 ล้านบาท ตลอดจนถึงโครงการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จากปัจจุบันก็อยู่ระหว่างร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่ารวมกว่า 1.5-1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับการอานิสงส์หลักและรัฐบาลให้การสนับสนุนเป้นพิเศษ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า, โครงการพลังงานสะอาด, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ, อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลทั้งหมด
ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศที่ส่งผลต่อตลาดทุน และเริ่มส่งสัญญาณออกมาบ้างแล้ว ได้แก่ หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนเริ่มปรับตัวลดลง และภาระค่าใช้จ่ายรถยนต์คันแรกที่จะครบกำหนด 5 ปี ขณะที่กลุ่มบ้านและคอนโดมิเนียม หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็มียอด Pre-Sale ในโครงการใหม่จำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่ายังมีอุปสงค์ของผู้บริโภคในกลุ่มนี้มากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ในส่วนหุ้นที่น่าจะมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ โดยเฉพาะหุ้นที่ยังไม่ปรับตัวขึ้น ได้แก่ หุ้นที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง เช่น STEC, CK, TICON, JWD, AOT และ BANK รวมถึงหุ้นที่น่าจะได้รับประโยชน์ทางอ้อม เช่น SPALI, HMPRO, CPALL, CPN, CENTEL, MINT, BDMS, BH เป็นต้น