xs
xsm
sm
md
lg

อย่างเศร้า!! วิจัยพบ “ผู้เฒ่า” ถูกละเมิดสิทธิผ่าน “ทารุณจิตใจ-ทอดทิ้ง-หวังทรัพย์” มากสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลวิจัยพบ “ผู้สูงอายุ” ถูกละเมิดผ่านการ “ทารุณจิตใจ -
ทอดทิ้ง - หวังทรัพย์” มากสุด เผยคดีอาญาผู้สูงอายุเป็นเหยื่อสูง 703 ราย เหตุโดดเดี่ยว ป่วย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เสนอ 6 ข้อ ฝ่าปัญหาละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ แนะทำงานเชิงรุก เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง พร้อมแก้กฎหมาย ปรับภารกิจ “ผู้พิทักษ์” รวมดูแลความเป็นอยู่ - เพิ่มกระบวนการตรวจสอบการทำหน้าที่ มีจริยธรรม


วันนี้ (20 ก.ย.) ที่ห้องประชุมกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “ผู้สูงอายุถูกละเมิด...ใครดูแล!!” โดย นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิ ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตน่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่ได้ความคุ้มครองสิทธิมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น นำมาสู่การศึกษาพัฒนาระบบพิทักษ์คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สสส. เพื่อทำให้ทราบถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยในด้านสิทธิ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการถูกละเมิดสิทธิ เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติเพื่อปกป้อง เฝ้าระวัง และคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งสามารถนำไปสู่การรองรับการปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม

รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้ศึกษาสถานการณ์การละเมิดสิทธิผู้สูงอายุในภาพรวม ควบคู่กับการทบทวนมาตรการ กฎหมาย บทบัญญัติการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุที่ใช้ในปัจจุบัน พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า คดีอาญาที่ผู้เสียหายเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้น ไป มีจำนวน 344 ราย ใน ปี 2550 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 703 รายในปี 2558 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการละเมิดสิทธิต่อผู้สุงอายุเรียงตามความรุนแรง 3 ลำดับแรก คือ การกระทำรุนแรงทางด้านจิตใจ รองลงมาคือ การทอดทิ้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ตามด้วยการเอาประโยชน์ด้านทรัพย์สิน

“ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิ ส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. ปัจจัยจากตัวผู้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น ติดสารเสพติด ติดสุรา อารมณ์ ใจร้อน โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน และ 2. ปัจจัยจากตัวผู้สูงอายุ เช่น อยู่คนเดียว มีความเจ็บป่วย ต้องการความช่วยเหลือ สมองเสื่อม ยากจน ขาดรายได้ เป็นต้น โดยที่ผู้สูงอายุต้องการผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิคือช่วงที่เกิดจุดเปลี่ยนของชิวิต ได้แก่ 1. การสูญเสียสมาชิกในครอบครัวที่เป็นที่พึ่งพิงของผู้สูงอายุ 2.เจ็บป่วยจนไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ด้วยตนเอง 3. การมีภาวะสมองเสื่อม” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

ด้าน นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับกฎหมาย บทบัญญัติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 โดย ได้กำหนดนิยามไว้ในมาตรา 3 ว่า “ผู้สูงอายุ” หมายถึงบุคคล ซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย แต่ก็มิได้มีการกำหนดให้นำคำนิยามดังกล่าวมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในเรื่องความสามารถของบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เมื่อพิจารณามุ่งหมายของบทบัญญัติ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ มุ่งเน้นเรื่องการจัดการทรัพย์สินของบุคคลที่มีความสามารถบกพร่อง หรือไร้ความสามารถในการจัดการด้วยตนเอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว เสมือนกลไกที่มารองรับ แต่ไม่ครอบคลุมถึงการให้การดูแลความเป็นอยู่ ชีวิตประจำวัน หรือการดูแลสุขภาพของคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ อีกทั้งไม่มีกระบวนการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ที่ศาลแต่งตั้ง

นอกจากนี้ บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่สามารถนำมาปรับใช้ในการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุที่ยังมีความสามารถในการตัดสินใจ เพียงแต่ความสามารถนั้นอาจด้อยลงตามสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยพร้อมอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นผู้สูงอายุกลุ่มนี้ จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ จากช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่ได้ให้การรับรองลักษณะของผู้สูงอายุตลอดจนความสามารถของผู้สูงอายุ ในช่วงระยะเวลาที่ความสามารถในด้านต่างๆ เริ่มด้อยลง ซึ่งหากไม่มีมาตรการ หรือกลไกใดๆ ให้ความคุ้มครองผู้สูงอายุกลุ่มนี้แล้ว ในอนาคตผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิอาจมีจำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณ และส่งผลกระทบเชิงลบต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จากการประชุมในครั้งนี้ มส.ผส. จึงเสนอแนะทางออกของปัญหาดังกล่าว 6 ข้อ ดังนี้ 1. ควรขับเคลื่อนนโยบายให้มีการทำงานเชิงรุก เน้นการป้องกัน เฝ้าระวัง คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง ทบทวนความจำเป็นในการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบคือ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 รวมถึงกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้สามารถทำงานในเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. ควรพิจารณาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีบุคคลที่ทำหน้าที่คุ้มครองหรือพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุตาม เช่น การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในประเด็นความสามารถของบุคคล

3. ควรพิจารณาเรื่องการทบทวน หรือปฏิรูปการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุของไทย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองผู้สูงอายุของสหประชาชาติ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมสมาชิกในครอบครัว ชุมชน ระบบอาสาสมัคร องค์กรภาคประชาสังคม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4. Capacity building เสริมสร้างศักยภาพให้บุคลากร ผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบุคลากรด้านสังคมสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ มีทักษะ ในการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ

5. ควรเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สังคม ให้เกิดระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุด้วยการรณรงค์กลไกสังคมตั้งแต่ครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น สังคม ไปจนถึงประเทศโดยรวม โดยผ่านระบบการศึกษา ศาสนา สื่อสารมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรสมาคมวิชาชีพ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรู้ความเข้าใจ มีพลังจากการมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนัก ยกระดับความเข้าใจ และสร้างปลูกจิตสำนึกต่อสังคมถึงความรุนแรงต่อผู้สูงอายุเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา เอาใจใส่ในระดับสังคมโดยรวม 6. พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุให้เป็นระบบหมวดหมู่ เนื่องจากการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ซ่อนเร้น ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ
กำลังโหลดความคิดเห็น