xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่ : ปราการป้องกันเด็กถูกเท/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) และศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “เสียงเล็กๆ จากเด็กถูกเท : พาเด็กและเยาวชนให้หลุดพ้นภาวะเปราะบาง” โดยมีเครือข่ายเด็ก เยาวชนจาก 4 ภูมิภาค ที่เผชิญภาวะเปราะบาง เข้าร่วมกว่า 150 คน

ภายในงานมีการเปิดเผยถึงสถานการณ์เด็กเยาวชนภาวะเปราะบางในปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.17 ล้านคน ประกอบด้วย กลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 %ของจำนวนประชากรเด็กไทย โดยยังขาดการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และอาชีพรองรับ, กลุ่มเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 476,000 คน, กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ ราว 200,000 คน, แม่วัยรุ่นที่มีอยู่ 104,289 คน รวมถึงกลุ่มเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 33,121 คน ซึ่งพบว่า 68 % มาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทาง และส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษา

นอกจากนี้ ดิฉันยังได้มีการสัมภาษณ์ตัวแทนของกลุ่มเปราะบางจำนวน 5 คน โดยใช้นามสมมติ ได้แก่ น้องผึ้ง - ตัวแทนกลุ่มเด็กไร้บ้าน, น้องคำแลง - ตัวแทนกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ, น้องโอลี่ - ตัวแทนกลุ่มเด็กจากครอบครัวแตกแยก, น้องเนม - ตัวแทนกลุ่มเด็กที่เคยถูกดำเนินคดียาเสพติด และ น้องมาย -
ตัวแทนกลุ่มแม่วัยใส

ทุกคนมาเล่าประสบการณ์ที่ต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรคในชีวิตของตัวเอง

น้องผึ้งต้องเร่ร่อนไร้บ้านตั้งแต่เล็ก ยังโชคดีที่อยู่กับพ่อ และได้รับโอกาสได้เข้าสู่ระบบโรงเรียน ที่สำคัญเพื่อนๆ ในโรงเรียนก็ไม่ได้ล้อเลียนหรือซ้ำเติมใดๆ แต่เธอก็เห็นปัญหาของเด็กกลุ่มเหล่านี้ที่ไม่ได้โชคดีเหมือนเธอ จึงอยากสะท้อนให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้มองเห็นปัญหา และอย่าทอดทิ้งพวกเขา
ส่วนน้องคำแลงมีพ่อแม่เป็นคนเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และให้กำเนิดเธอที่เมืองไทย แต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ที่ผ่านมาเธอพยายามยื่นเรื่องขอมีสัญชาติไทยแต่ติดปัญหาที่ต้องมีพ่อแม่มายืนยันการเกิด ซึ่งพ่อแม่เธอแยกทางกัน นั่นหมายความว่าเธอต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติ และเมื่อถึงวันที่เธอต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาแม้จะได้รับโอกาสในช่วงต้น แต่สุดท้ายวันนี้เธออยู่ระดับชั้นม. 6 เธอก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปต่อในระดับปริญญาตรีได้

ในขณะที่น้องโอลี่ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความแตกแยกของครอบครัว โอลี่อยู่กับแม่ และแม่ก็ต้องทำงานหนักไม่มีเวลาอยู่ด้วยกัน ทำให้สัมพันธภาพระหว่างแม่ลูกมีปัญหาอย่างมาก จนโอลี่ยอมรับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอเริ่มสูบบุหรีและติดเพื่อน จนกลายเป็นมีปากเสียงกับแม่บ่อยครั้ง
คนถัดไปคือน้องมายที่ผิดพลาดในชีวิตทำให้เธอท้องเมื่ออายุได้เพียง 17 ปี ส่งผลให้ชีวิตเธอเปลี่ยนทันที มีปัญหากับครอบครัว ต้องออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ม.3 แม้ปัจจุบันเธอจะใช้ชีวิตอยู่กับสามีและลูก แต่ก็ต้องเผชิญกับสภาพการใช้ชีวิตที่เธอยอมรับว่าเหนื่อย ซึ่งถ้าเธอเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่ทำสิ่งที่ไม่เหมาะในวัยอันควร เธอคงจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้

คนสุดท้ายคือน้องเนม อดีตเยาวชนที่เคยก้าวพลาดจนต้องคดียาเสพติด เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชน ว่า ตอน ม.2 ชอบเที่ยวมากกว่าเรียน หนีเที่ยวจนถูกไล่ออก ไปสมัครเรียนที่ไหนก็ไม่มีโรงเรียนไหนรับ จึงตัดสินใจไม่เรียน หลังจากนั้น ก็เที่ยวเตร่ กินเหล้า ขับรถแว้น กลายเป็นเด็กเกเร จนมาถึงขั้นลองใช้ยาเสพติด (ยาบ้า) เพราะคิดว่าแค่ทดลองไม่เป็นไร แต่มันกลับทำให้ยิ่งหลงเข้าไปจนเริ่มไปใช้ยาตัวอื่นๆ เช่น เฮโรอีน สุดท้ายก็ติดจนไม่สามารถขาดยาได้ ตอนนั้นอายุเพียง 15 ปี เมื่อติดยาแล้วก็ต้องหาเงินไปซื้อจึงเริ่มเป็นเด็กเดินยาแถวบ้าน แล้วก็ผันตัวมาเป็นผู้ขายรายย่อย ขายส่ง จนวันหนึ่งมีคนมาจ้างให้ไปส่งยาบ้า 50,000 เม็ด ได้ค่าตอบแทน 200,000 กว่าบาท ตอนนั้นมีความสุขมากเพราะได้เงินมาง่ายและเร็ว จึงรับงานนี้ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดโดนจับกุมข้อหามียาบ้า 50,000 เม็ด โดยศาลเยาวชนตัดสินส่งไปอยู่ศูนย์ฝึก

จุดเปลี่ยนของน้องเนมเนื่องจากต้องสูญเสียน้องชายและพ่อที่เสียชีวิตในขณะที่น้องเนมยังอยู่ในเรือนจำ ทำให้เสียใจมาก เริ่มได้คิด เพราะตลอดเวลาที่อยู่ในคุก มีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่ไปเยี่ยม เพื่อนมากมายที่เคยบอกว่าเพื่อนไม่ทิ้งกันหายหน้าหายตาไปหมด ทำให้ได้คิดไม่น้อยว่า ถ้าเชื่อพ่อแม่เสียตั้งแต่แรกชีวิตคงไม่ต้องเผชิญวิบากกรรมเยี่ยงนี้

และ..ไม่อยากทำให้แม่เสียใจอีกแล้ว จึงตัดสินใจเลิกเด็ดขาด และก็ชนะใจตัวได้จริงๆ

ภายหลังจากที่น้องเนมตัดสินใจเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ต้องเผชิญกับผู้คนในสังคมมากมาย แต่สุดท้ายก็ได้คิดว่า แม้จะต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรคที่ต้องถูกตราหน้าว่าเคยติดคุก ก็คิดว่าตัวเองต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า เราจะต้องไม่ให้สังคมปรับเข้าหาเราและยอมรับเราอย่างเดียว แต่เราต้องเปลี่ยนตัวเองและทำให้สังคมยอมรับเราให้ได้

“ปัจจุบันผมพ้นโทษแล้วและเลิกยุ่งกับยาเสพติดทุกชนิด เพราะได้รับโอกาส ได้ฝึกอาชีพโดยให้ค้นหาตัวเองถึงอาชีพที่สนใจ การซ่อมและซื้อขายมอเตอร์ไซค์เก่า รวมถึงเรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานแบบพอเพียงทำให้ผมมีความฝันอยากจะมีบ้านสวนเล็กๆ และเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์ เพื่อสักวันหนึ่งผมจะมีโอกาสรับเยาวชนที่เคยก้าวพลาดมาดูแล เหมือนที่ตนเองได้รับโอกาสนั้นมา เพราะเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด ต้องการเพียงคนให้อภัย ให้โอกาสได้เริ่มต้นใหม่”

สภาพปัญหาของทุกคนแม้จะแตกต่างกัน แต่จุดร่วมของน้องแต่ละคนที่แม้จะต่างกรรมต่างวาระกันคือสภาพที่หลุดออกจากพ่อแม่ ไม่ว่าจะหลุดเอง เพราะวัยที่เชื่อเพื่อนมากกว่า หรือเพราะเหตุอื่นก็ตาม
ตอกย้ำให้เห็นว่าพ่อแม่คือปราการด่านสำคัญที่สุดของลูก ปราการที่จะปกป้องหรืออย่างน้อยเป็นกันชนลดผลกระทบด้านลบจากสังคมภายนอก แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเป็นเรื่องที่เด็กทุกคนจะต้องมี แต่สำหรับพ่อแม่ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับลูกเป็นปกติก็ควรจะฟังเรื่องราวเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์ ให้เวลาลูก สนใจลูก อย่าให้ในวันหน้าต้องมานั่งเสียใจแล้วรำพึงแล้วรำพึงอีกว่า...

“รู้งี้...วันนั้นคง....”

“รู้งี้...วันนั้นจะไม่.....”


กำลังโหลดความคิดเห็น