ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากที่เป็นข่าวโด่งดังในชั่วข้ามคืน จากการไปออกรายการโทรทัศน์ดิจิทัลช่องหนึ่ง ทำเอาทั้งประเทศรู้จัก"น้องพี" เด็กชายสุวิน ที่รับคำท้าเตะลูกฟุตบอลให้ชนคาน 3 ครั้ง เพื่อแลกกับลูกฟุตบอลเป็นของตัวเอง และก็ไม่พลาดเป้า แต่นักเตะมหัศจรรย์ รายได้นี้ “มีสัญชาติมอญ”
ข่าวบอกว่า น้องเป็นลูกจ้างคนดูแลสนามฟุตบอลแห่งหนึ่ง มีพ่อแม่เป็นคนพม่าสัญชาติมอญหรือคนไร้สัญชาตที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แม้จะมีสโมสรฟุตบอลอาชีพแสดงความสนใจที่จะดึงเด็กคนนี้มาร่วมอะเคเดมีหรือโรงเรียนฟุตบอลของตนเอง บางแห่งเสนอที่จะเซ็นสัญญาถึงกับจะให้ทุนการศึกษาเรียนฟรี
ปัจจุบันน้องพี ได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยเริ่มเรียนที่โรงเรียนลำสาลี (ราษฎร์บำรุง) ใน กทม. ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า คนไทยหลายคนอยากเห็นน้องพี่เก่งขึ้น พัฒนาขึ้น จนสามารถติดทีมชาติไทย แต่การเป็นคนไร้สัญชาติมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะติดธง
กรณีของน้องพี ล่าสุดมีข่าวทางสื่อออนไลน์ ระบุว่าทาง "เสี่ยเช" วรพจน์ ยศะทัตต์ ผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติไทย ได้แสดงความยินดี และพร้อมที่จะช่วยในเรื่องของสัญชาติและนามสกุลที่แข้งเด็กมหัศจรรย์รายนี้ยังไม่มี เพื่อต่อยอดวงการฟุตบอลในอนาคต
“ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พร้อมและยินดีที่จะช่วยในเรื่องของสัญชาติ ซึ่งในตอนนี้เจ้าตัวยังไม่มีนามสกุล ตลอดจนในเรื่องของการศึกษาและการพัฒนาทักษะฟุตบอลเพื่อต่อยอดการก้าวขึ้นสู่เป็นนักเตะทีมชาติไทยในอนาคต”
จากข้อมูลของ “ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผอ.สถาบันรามจิตติ” เมื่อปี 2557 ระบุว่า มีเด็กด้อยโอกาสกว่า 5 ล้านคน วนเวียนอยู่ในการศึกษาไทย โดยได้มีการประมาณว่ามีเด็กลูกแรงงานต่างด้าวที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา 2.5 แสนคนเป็นอย่างน้อย ยังไม่นับเด็กไร้สัญชาติอีกกว่า 2 - 3 แสนคน
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRL) ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ลูกแรงงานต่างด้าวไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะพ่อแม่ต้องการให้ลูกช่วยทำมาหากินมากกว่าที่จะส่งลูกเข้าเรียน
ขณะที่ นายเกรียงไกร ชีช่วง เลขาธิการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการถอดบทเรียน ในพื้นที่อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี พบว่าลูกแรงงานต่างด้าว จะเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะส่วนใหญ่ที่ต้องออกกลางคัน เพราะไม่มีแรงจูงในในการเรียนศึกษาต่อ อีกทั้งมีข้อจำกัดคือออกนอกพื้นที่ไม่ได้ และมีปัญหาเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้พ่อแม่แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ไม่ให้ลูกเรียนหนังสือ และต้องไปเป็นแรงงานก่อนวัยอันควร
ประเด็นของน้องพี นี้น่าจะเป็นกรณีต่อจาก “น้องหม่อง ทองดี”เด็กไร้สัญชาติ ชาวไทใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า ที่ต้องการต่อยอดจากเครื่องบินกระดาษไปเป็นนักบิน (ประเด็นจากความต้องการเดินทางไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่มีสัญชาต) เข้าหาผู้ใหญ่เพื่อช่วยเหลือ ข่าวว่ากระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นช่วยเหลือ ได้เข้ารับการศึกษาต่อ ปัจจุบันน้องหม่อง สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และปัจจุบันยังคงมีสถานะเป็น “บุคคลไร้สัญชาติ”
หรือเมื่อเร็วๆนี้ เพจสโมสรฟุตบอลน่าน เอฟซี รวมทั้งเพจของประธานสโมสรน่าน เอฟซี ที่เปิดประเด็นในเรื่องนักกีฬาไร้สัญชาติเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ออกมาโพสต์แสดงความเห็นใจกับนักกีฬาไร้สัญชาติ 2 คน “ชาวไทใหญ่”ที่เข้ามาคัดและสามารถผ่านด่านเข้าเป็นนักฟุตบอลของสโมสรได้ แต่กลับไม่สามารถเซ็นสัญญากับสโมสรได้ เนื่องจากคนไร้สัญชาติ ไม่สามารถทำงานในประทศไทยได้
เมื่อปี 2557 เว็ปไซต์สำนักข่าวชายขอบ และเว็ปไซต์ข่าวไทใหญ่ รายงานตรงกันว่า “นายสาธิต บุญทอง” ประธานสโมสรน่านเอฟซี ในขณะนั้น ได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ 2 เยาวชนชาวไทใหญ่ซึ่งมีความสามารถในการเล่นฟุตบอล แต่ไม่มีโอกาสที่จะเข้าร่วมทีมน่านเอฟซี เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย และตามกฎหมายยังระบุห้ามผู้ที่ยังไม่มีสัญชาติไม่สามารถเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้
สำนักข่าวไทใหญ่ รายงานว่า ทั้ง 2 คนเป็นชาวไทใหญ่ที่มาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยนานแล้ว โดยคนหนึ่งถือบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง ส่วนอีกคนถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตร 10 ปี ทั้งนี้ตามกฎหมายไทยกำหนดให้ผู้ที่ถือบัตรประจำตัวเหล่านี้สามารถทำงานใน 27 อาชีพเท่านั้น โดยทั้งนักฟุตบอลดาวรุ่งทั้ง 2 คนจะไม่มีโอกาสเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้
เกี่ยวกับกรณีนี้ ทางฝ่ายกฎหมายของสโมสรน่านเอฟซีก็พยายามหาทางช่วยเหลือเพื่อรับทั้ง 2 คนเข้าทีม แต่ทั้งเยาวชนทั้ง 2 คน ก็ยังไม่มีสิทธิ์เป็นผู้เล่นให้กับทีมได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย
ทางด้านนายสาธิต บุญทอง ประธานสโมสรขณะนั้น ระบุว่า เยาวชนเชื้อสายไทใหญ่ทั้ง 2 คนนั้นมีความสามารถในการเล่นฟุตบอลเทียบเท่าในระดับอาเซียนก็ว่าได้ ซึ่งทางทีมก็พร้อมรับทั้งสองคน แต่ยังติดที่กฎหมาย
ล่าสุด 2560 เพจ Chaiyanun Hanyut ประธานสโมสรคนใหม่ เขียนไว้ว่า “และแล้วสิ่งที่เราหวังไว้ก็เกิดผล ตั้งแต่บอร์ดสโมสรชุดที่แล้วนำโดยท่านสาธิต บุญทอง และอาจารย์สมพงษ์ พิมมาศ มีความประสงค์จะให้โอกาสกับผู้เล่นที่มีความสามารถ แต่พวกเขาไม่มีโอกาส น่าน เอฟซี ถือเป็นสโมสรที่ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมันก็เกิดผล ขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมองเห็นคุณค่า และโอกาสของคนที่ขาดโอกาสเหล่านั้น วันนี้ปลดล็อคทุกสิ่งอย่าง เมื่อเราได้รับหนังสือประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี น่าน เอฟซี ยินดีต้อนรับ และให้โอกาสกับนักเตะจากชนเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยในไทยที่มีความสามารถ เราจะพัฒนาไปด้วยกันครับ”
พูดง่าย ๆก็คือ นักฟุตบอลไร้สัญชาติสามารถเล่นและทำงานในประเทศไทยได้ตาม ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้กลุ่มคนไร้สัญชาติ-ชนเผ่า สามารถเล่นฟุตบอลลีกไทยได้ ตามคำสั่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
โดย ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ต่อพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ระบุว่า คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานาน โดยได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษ และได้รับการจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวมถึงบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย, คนต่างด้าวที่นายอำเภออยู่ในระหว่างพิสูจน์สัญชาติไทย, บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ให้ทำงานได้ทุกประเภท เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งมีประกาศกฎหมายให้ทำงานได้โดยเฉพาะเอาไว้
คนต่างด้าวหรือชนเผ่า ที่ได้รับการอนุญาตให้ทำงานได้ ในที่นี้ ประกอบไปด้วย บุคคลที่มาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ไม่มีภัยต่อความมั่นคงของประเทศไทย
“ชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ - บุคคลบนที่สูง - อดีตทหารจีนคณะชาติ - จีนฮ่ออพยพพลเรือน, จีนฮ่ออิสระ - ผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมา - ผู้พลัดถิ่นสัญชาติเมียนมาเชื้อสายไทย - ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากเมียนมา (มีถิ่นถาวร,อยู่กับนายจ้าง) - เวียดนามอพยพ, ลาวอพยพ, เนปาลอพยพ - ผู้อพยพและผู้หลบหนีเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา - ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา - อดีตจีนคอมมิวนิสต์มลายา - ไทยลื้อ - กลุ่มตองเหลือง - ม้งถ้ำกระบอก - ชุมชนบนพื้นที่สูง(ชาวเขา 9 เผ่า และกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวเขา) - ลาวภูเขา- บุตรของชนกลุ่มน้อย”
“คนต่างด้าวผู้ถือบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน - กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยเดิมและอยู่นาน - เด็กนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษาของราชการ- บุคคลไร้รกเหง้า- ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย - กลุ่มบุคคลแจ้งชื่อจากการเกิด (ท.ร.031) เลขประจำตัวประเภท 0”
ข้อมูลนี้ "หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ”ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า เรื่องกำหนดงานให้บุคคลพื้นที่สูงที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ที่มีในประเทศไทยกว่า 5.6 แสนคน สามารถทำงานได้ทุกประเภทงาน ตามความรู้ความสามารถรวมทั้งได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 2,000 บาท แต่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยื่นคำร้อง 100 บาท
ขณะที่ “สิงหเดช ชูอำนาจ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขยายความว่า กฎหมายฉบับนี้ออกเพื่อให้ผู้อพยพที่ได้รับการผ่อนผันซึ่งเข้ามาในไทยตั้งแต่โบราณ แต่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เช่น คนพื้นที่สูง คนพลัดถิ่น กลุ่มตองเหลือง ให้สามารถทำงานได้ทุกประเภทตั้งแต่วันนี้ จากเดิมให้เพียง 27 อาชีพเท่านั้น
“ตอนนี้จะเป็นหมอ ทนายความ อะไรทำได้ทั้งหมดโดยไม่มีข้อจำกัด เพียงหากจะเดินทางไปทำงานพื้นที่อื่นของประเทศควรแจ้งฝ่ายปกครองให้รับทราบเพื่อรู้ถึงสถานะปัจจุบัน ประกาศนี้จะช่วยปลดล็อกทำให้ประเทศไทยมีกำลังแรงงานเข้ามาเติมในอุตสาหกรรมที่ขาดมากขึ้น”
กฎหมายฉบับนี้ ทำให้ “ยอด ปอง” ที่จบปริญญาตรี ครุศาสตร์ ได้เป็นครู หรือ จ่ามอ่อง ลุงมู ก็สามารถเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ หลังจากรัฐบาลได้ให้สิทธิทางการศึกษาและสิทธิทางด้านสาธารณสุข
เช่นเดียวกับกรณีของ“สมหมาย" นิพันธ์ สุทธิมา นักเตะไร้สัญชาติ ที่ก็ได้รับสัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว และเซ็นสัญญากับ สโมสร ป.ต.ท.ระยอง เมื่อไม่นานมานี้ กรณีดังกล่าวเป็นการต่อยอดให้กับ น้องพี" เด็กชายสุวิน เด็กชาวมอญ และเด็กไร้สัญชาตคนอื่น ๆ ที่จะได้เรียนหนังสือตามสิทธิ และได้เล่นฟุตบอลลีกไทย ตามกฎหมายที่ให้คนไร้สัญชาติทำงานในประเทศไทยได้
ต่อไปนี้ ฟุตบอลลีกไทย ก็จะมีคนไร้สัญชาติจากที่ราบสูง และพื้นที่ต่าง ๆมาเล่นให้กับสโมสร แต่ก็ติดอยู่ว่าสโมสรนั้น ๆ จะเปิดให้คนเหล่านี้เข้ามาคัดเลือกหรือไม่ และ การกีฬาแห่งประเทศไทย(ก.ก.ท.) ที่กำกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะยอมรับหรือไม่ และนำแนวทางดังกล่าวตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติอย่างไร
และกรณีนี้ก็จะไม่รวมถึงฟุตบอล ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ยังจะรวมไปถึง กีฬาอาชีพในประเทศไทย ที่มีกฎหมายรองรับแล้ว เช่น วอลเล่ย์บอลไทยลีก เป็นต้น