xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ในหนู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิทยาศาสตร์จีนประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในการทดลองนำเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ ของตัวอ่อนมนุษย์ รักษาหนู จนมันหายจากโรคอัลไซเมอร์

นักวิทยาศาสตร์จีนคณะนี้ ซึ่งมีหัวหน้าคือศาสตราจารย์ จิ้ง ไหน่เหอ แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพเซี่ยงไฮ้ในสังกัดของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ระบุในรายงานในวารสาร " สเต็มเซลล์ รีพอร์ตส์" ( Stem Cell Reports)ว่า คณะนักวิจัยได้ทดลองปลูกถ่ายเซลล์ประสาท ที่ได้จากเซลล์ต้นกำเนิดดังกล่าวในหนูทดลองหลายตัว ซึ่งมีอาการเสื่อมของสมอง โดยต่อมาพบว่า ร้อยละ 60 ของเซลล์ประสาทมนุษย์ถูกระบบภูมิคุ้มกันของหนูระบุว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงถูกทำลายไป แต่เซลล์ประสาทส่วนที่เหลือมีชีวิตรอด และได้ช่วยซ่อมแซมสมองส่วนที่ถูกทำลายของหนูนั้น

จากนั้น อีก 2 เดือนต่อมา นักวิทยาศาสตร์ได้นำหนู ที่ถูกปลูกถ่ายเซลล์ประสาท ไปเปรียบเทียบการทำงานของสมองกับหนู ที่ไม่ได้ป่วย ก็พบว่า หนูที่ถูกทดลองมีความทรงจำ ที่ฟื้นฟูดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

" ผลการทดลองที่ได้เหล่านี้บ่งชี้ว่า สมองที่เสื่อมสภาพการทำงานเนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ของหนูสามารถรักษาได้" คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุ

เซลล์ประสาทของมนุษย์ได้มาจากไข่ที่ถูกผสมพันธุ์แล้ว ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบจริยธรรมต่าง ๆ ที่ทางการกำหนด

ผลการทดลองครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็๋นวิธีการ ที่นำมาใช้ได้จริงเป็นครั้งแรกในการบำบัดฟื้นฟูสมอง ที่เสื่อมสภาพด้วยไข่ ที่ผสมพันธุ์แล้วของมนุษย์ และเป็นการกรุยทางไปสู่การนำไปใช้รักษามนุษย์ ที่ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ในวันหนึ่งข้างหน้าอีกด้วย

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคการเสื่อมสภาพของสมอง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายสิบล้านคน โดยโรคนี้จะส่งผลให้การทำงานของสมองลดลง ซึ่งเห็นได้จากการสูญเสียความทรงจำ และการพูดจาได้ลำบาก เนื่องจากเซลล์ประสาทถูกทำลาย

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้ากันมานานหลายสิบปี เพื่อหาวิธีรักษาเซลล์ประสาท ที่ถูกทำลาย โดยการศึกษค้นคว้าในอดีตระบุว่า โรคอัลไซเมอร์เกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของโมเลกุลและเซลล์ประสาทมากมายหลายประเภท ซึ่งต้องรักษาด้วยสเต็มเซลล์ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหลายคนเห็นว่า การบำบัดด้วยสเต็มเซลล์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และใช้ซ่อมแซมเซลล์ประสาทได้เพียงบางชนิดเท่านั้น

ศาสตราจารย์จิ้งกล่าวว่า การทดลองครั้งนี้มีการใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวอ่อนมนุษย์ก็เพราะวิธีการนี้ในที่สุดก็จะต้องนำไปใช้รักษามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือเรื่องความปลอดภัย โดยคณะผู้วิจัยเกรงกันว่า เซลล์ที่ปลูกถ่ายในหนูทดลองอาจกลายพันธุ์เป็นเซลล์ประสาทชนิดอื่น หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดเนื้องอกในสมอง

แต่จากการเฝ้าสังเกตหนูทดลองมานานกว่า 7 ปี ยังไม่พบการกลายพันธุ์ หรือการพัฒนาไปสู๋มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การนำวิธีการนี้มาใช้กับมนุษย์ยังเป็นสิ่งที่เร็วเกินไป อีกทั้งหนูยังคงมีความแตกต่างจากมนุษย์อยู่อีกมาก ดังนั้น อาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานมาก กว่าจะนำมาทดลองได้กับอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์


กำลังโหลดความคิดเห็น