เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบสารประกอบทางเคมีในพิษของตะขาบหัวแดงพื้นเมือง ซึ่งเป็นความหวังในการนำไปพัฒนาเป็นยาแก้ปวด ที่ออกฤทธิ์ฉับพลันได้ไม่แพ้มอร์ฟีน แต่ดีกว่าตรงที่ไม่เป็นสารเสพติด และไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ
คณะนักวิทยาศาสตร์ภายใต้การนำของศาตราจารย์ ไหล เหริน แห่งสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ซึ่งอยู่ในสังกัดของสถาบันศึกษาวิทยาศาสตร์ของจีน ใช้ความพยายามอยู่นานหลายปีในการแยกสารเคมี ซึ่งเรียกว่า RhTx จากพิษของตะขาบหัวแดง ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมือง ที่พบในแถบเอเชียตะวันออก และออสตราลาเซีย ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะใกล้เคียงในมหาสมุทรแปซิฟิก
สารประกอบเคมีตัวนี้มีคุณสมบัติเหมือนสวิตช์เปิดปิดไฟฟ้า ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือให้หายจากความเจ็บปวดได้
เมื่อค้นพบคุณสมบัติของสาร RhTx ดังกล่าว ไหลและคณะจึงตัดสินใจค้นคว้าหายาแก้ปวด ที่สามารถใช้ได้ในระยะยาวและมีอันตรายน้อยกว่ามอร์ฟีน โดยอาศัยหลักตรรกะที่ว่า หากสารเคมีชนิดหนึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดได้ ดังนั้นในทางทฤษฎีแล้ว กลไกเดียวกันนี้ย่อมถูกเปลี่ยนย้อนกลับไปสู่ผลในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน
“ ความเจ็บปวดของพิษตะขาบมีความรุนแรงสุดขีด โดยออกฤทธิ์ในทันทีและกินเวลาอยู่นานตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงครึ่งไปจนถึง 2 หรือ 3 วัน” คณะนักวิจัยระบุในรายงานการค้นคว้า ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “ Nature Communications”
สารอาร์เอชทีเอ็กซ์ มีกลไกทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ด้วยการแจ้งเตือนไปยังระบบประสาทส่วนกลางของสิ่งมีชีวิต โดยสารนี้ไปจับกับ TRPV 1 ซึ่งเป็นโปรตีนรับรู้ความร้อน มีอยู่ในคนและสัตว์ หากสารประกอบตัวนี้ถูกกำหนดโปรแกรมใหม่ให้ทำงานในทิศทางตรงกันข้าม ผลก็ย่อมออกมาตรงกันข้ามเช่นกัน
นักวิจัยคณะนี้ระบุในรายงานว่า การศึกษาชิ้นนี้เป็นการเปิดประตูไปสู่การเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของพิษตะขาบ เพื่อย้อนกลับผลของมันจากการเป็นผู้สร้างความเจ็บปวดไปเป็นผู้กำจัดความเจ็บปวด
อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดเป็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ที่มีความซับซ้อนมาก ดังนั้นหนทางในการค้นคว้าว่า พิษตะขาบจะมาเป็นยาแก้ปวดแทนที่มอร์ฟีนได้หรือไม่ยังอยู่อีกไกล
ตะขาบจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์นักล่า ที่มีความเก่าแก่ที่สุดบนโลกใบนี้ โดยซากฟอสซิลตะขาบเก่าแก่ที่สุดมีอายุมากถึงราว 460 ล้านปี ซึ่งมีอายุมากกว่าไดโนเสาร์บางชนิดถึง 2 เท่า สายพันธุ์ส่วนใหญ่ของตะขาบไม่เป็นอันตราย แต่ตะขาบบางชนิดกัดมนุษย์ถึงตายได้