เซาท์ไชน่ามอร์นื่งโพสต์ - ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งเป็นประเทศจีนในปัจจุบันเต็มไปด้วยเรื่องราวลี้ลับของโลกในยุคดึกดำบรรพ ที่เผยหลักฐานมาให้มนุษย์ในยุคเตรียมเหยียบดาวอังคารฉงนฉงายกันอยู่ตลอดเวลา
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบซากฟอสซิลของสัตว์ ซึ่งมีกายวิภาคประหลาดพิสดารไม่เหมือนใคร บ่งชี้ว่า ไม่น่าจะใช่สิ่งมีชีวิตที่โตเต็มวัย ทว่ามันน่าจะเป็นตัวอ่อน ( larva) เพราะจากการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่า มันไม่มีปากสำหรับกินอาหาร หรือ รูทวารสำหรับขับถ่ายของเสีย นอกจากนั้นยังเป็นตัวอ่อนที่แก่ที่สุด โดยมีอายุย้อนไปไกลถึง 535 ล้านปีก่อน
การศึกษาซากฟอสซิลนี้เป็นการค้นคว้าวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยปักกิ่งกับสถาบันวิทยาศาสตร์จีน โดยในรายงานผลการค้นคว้า ซึ่งศาสตราจารย์ตง ซีผิง และศาสตราจารย์จ้วง หวาเฉียว เขียนลงในวารสาร ไซเอนซ์ บูลเลตินเจอร์นัล (Science Bulletinjournal) ประจำเดือนธ.ค.พ.ศ. 2558 ระบุว่า ลักษณะรูปร่างของมันแตกต่างจากไฟลัมใด ๆ ในอาณาจักรสัตว์ ที่รู้จักกันมา
ตัวประหลาดนี้มีชื่อเรียกว่า เอียวลาร์วา ควนชวนพูเอ็นซิส ( eolarva kuanchuanpuensis) โดยนักวิทยาศาสตร์คณะนี้พบซากฟอสซิลของเจ้าเอียวลาร์วาหลายซากถูกฝังอยู่ภายในก้อนหินปูนในมณฑลส่านซี ภาคตะวันตกของจีน แต่มีฟอสซิลเพียง 2 ซากเท่านั้นที่ยังคงสภาพดีพอสำหรับให้ได้ศึกษา โดยแต่ละซากมีขนาดกว้างราว 1 มิลลิเมตร และเมื่อนำมาเทียบเคียงอายุกันแล้ว มันเป็นตัวอ่อน ที่มีอายุเก่าแก่ยิ่งกว่าตัวอ่อนของปูโบราณ ที่ถูกค้นพบในเยอรมนีเมื่อต้นปีนี้ ซากฟอสซิลปูโบราณอายุแค่ 150 ล้านปี
จากลักษณะทางกายวิภาค คณะนักวิทยาศาสตร์จึงลงความเห็นว่า มันน่าจะดำรงชีวิตด้วยการดูดสารอินทรีย์จากสิ่งแวดล้อมผ่านทางผิวหนัง นอกจากนั้น มันยังมีสมองและระบบประสาท ซึ่งสิ่งมีชีวิตประเภทฟองน้ำไม่มี รวมทั้งมีหนวด 3 คู่ยื่นออกมาด้านข้างตัว ซึ่งอาจใช้สำหรับว่ายน้ำ หรือป้องกันตัวอีกด้วย
แม้ยังมีปริศนาให้ต้องไขกันอีกหลายประการเกี่ยวกับเอียวลาร์วา ทว่าการค้นพบครั้งนี้ก็นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสำหรับการศึกษาด้านชีววิทยาวิวัฒนาการกันต่อไป