xs
xsm
sm
md
lg

หลักประกันเพื่อผู้สูงวัย ... ที่ อ.อาจสามารถ ร้อยเอ็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” ที่มีจำนวนคนเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำให้คู่แต่งงานหลายคู่ตัดสินใจที่จะมีลูกเพียง 1 - 2 คน เพื่อจะได้ทุ่มเทเลี้ยงดูได้อย่างเต็มที่ ต่างจากสมัยก่อนที่นิยมมีลูกหลายคนเพื่อมาช่วยกันทำงานเลี้ยงครอบครัว

การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการเพื่อมารองรับ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เนื่องจากมีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าช่วงชีวิตที่คนเราใช้เงินเพื่อรักษาพยาบาลมากที่สุดก็คือช่วงที่เป็นผู้สูงวัย และจะยิ่งใช้เงินมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต หากไม่มีการจัดระบบที่ดีเพื่อรองรับ รัฐจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล

ล่าสุด คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ผู้ดูแลการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองมีมติขยายสิทธิการคลอดจากเดิมให้สิทธิคลอดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประชากรวัยแรงงานเริ่มน้อยลง ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมประชากรมากขึ้น โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 นี้เป็นต้นไป ไม่รวมถึงการจัดระบบเพื่อดูแลผู้สูงวัยระยะยาว (Long Term Care) และโครงการอื่น ๆ อีกมาก

ในพื้นที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ได้เริ่มต้นจัดระบบเพื่อดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ ด้วยการดึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดร้อยเอ็ด (พมจ.) นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เอกชน ฯลฯ เข้ามาช่วยกันสร้างสังคมแห่งการเอื้ออาทรกัน

นพ.ธารา รัตนอำนวยศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจสามารถ เล่าว่า “ทีมหมอครอบครัว” ที่อยู่ในพื้นที่จะเป็นผู้คอยสอดส่องว่ามีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยคนใดที่มีปัญหาซับซ้อน ต้องได้รับการดูแลจากหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข จากนั้นจะส่งรายชื่อผู้ป่วยนั้นมาให้ทางโรงพยาบาล เพื่อประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ลงไปช่วยเหลือตามบทบาทหน้าที่ เพราะการช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นจำเป็นต้องทำแบบองค์รวม ทุกมิติ

นพ.ธารา กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้เปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมจะประชุมประจำเดือนก็จะประชุมเฉพาะเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล มาเป็นการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ป่วย ก่อนการประชุมประจำเดือนของโรงพยาบาล ซึ่งการลงพื้นที่เยี่ยมนี้จะให้ทีมหมอครอบครัวในพื้นที่ตำบลนั้น เลือกผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนที่ต้องใช้สหสาขาวิชีพด้านสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยให้ทีมเครือข่ายไปเข้าเยี่ยมเยียน

“การลงพื้นที่แบบนี้ทำให้ได้เห็นสภาพจริงของผู้ป่วย ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือแบบองค์รวม ตัวแทนหน่วยงานที่ลงไปเยี่ยมกับเรา เช่น อบต. /เทศบาล พมจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะได้ช่วยกันคิดว่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีนี้ได้อย่างไร ในบทบาทหน้าที่ของตัวเองและกลายเป็นสัญญาใจระหว่างกัน ว่าหลังจากเยี่ยมไปแล้วจะต้องไปทำจริง ๆ” นพ.ธารากล่าว และว่าการทำงานแบบ “ถึงพื้นที่” ทำให้มีความสุขมากกว่าการทำงานตามตัวชี้วัด (KPI) เพราะเป็นการทำงานเพื่อแก้ปัญหาโดยอาศัยพื้นที่เป็นฐาน และประชาชนได้ประโยชน์ คนที่ทำงานก็มีความสุข และ อ.อาจสามารถ ก็โชคดีที่นายชุมพิชญ์ เดชะรัฐ นายอำเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้การประสานงานราบรื่นมากขึ้น

นายวิรัช โพนเมืองหล้า อายุ 61 ปี ต้องลาออกจากงานร้านอาหารที่ปากน้ำ สมุทรปราการ เพื่อมาดูแลพี่สาวและพี่ชายทั้ง 4 คน คือ นางสาวสมุทร พี่สาวคนโตวัย 76 ปี ที่พิการตาบอดสองข้าง และเดินไม่ได้ นางสาวนวลจันทร์ พี่สาวคนรองที่มีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ นางสาวลำดวน พี่สาวคนที่ 4 อายุ 65 ปี ที่มีอาการปวดขาสองข้าง เดินไปไหนมาไหนไกลไม่ได้ และ นายเสรี พี่ชายคนที่ 5 ที่เป็นโรคหัวใจโตและลิ้นหัวใจรั่ว ต้องรับยารักษาโรคหัวใจที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดทุกเดือน ส่วนนางสาวภัคธิตา พี่สาวคนที่ 3 อายุ 66 ปี นั้น มีอาชีพแม่ครัวในร้านอาหาร ที่ปากน้ำ สมุทรปราการ และเป็นคนส่งเงินมาให้กับพี่น้องทั้ง 5 เพื่อเป็นค่ายา ค่าน้ำมันไปหาหมอบ้างในบางคราว

“มาดูแลพี่น้องทั้ง 4 คนแบบนี้ ก็มีบ้างที่เหนื่อยแต่ก็ไม่เคยท้อ เพราะพวกเราทั้ง 6 คน นั้นเป็นคนโสด ไม่มีครอบครัว ก็ต้องดูแลกันไป จะไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็ขี่รถมอเตอร์ไซค์สีแดงเก่า ๆ ไปเพราะไม่มีเงินเหมารถ วันหนึ่งบางทีต้องพาพี่สาว พี่ชายไปหาหมอ 2 - 3 เที่ยว เดี๋ยวคนนี้เจ็บ เดี๋ยวคนนี้ป่วย” แม้การดูแลผู้สูงวัยทั้ง 4 คน จะเป็นภาระหนัก แต่นายวิรัชก็เล่าว่าดีใจมากที่มีวันนี้ วันที่ทุกหน่วยงานยื่นมือกันเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ตนก็จะไม่ท้อและสู้ต่อไปเพื่อพี่ๆ ให้สมกับที่ทุกคนได้ช่วยเหลือ

นายประสงค์ ทศกรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ ได้ช่วยให้นายวิรัชได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอนามัย ซึ่งมีเด็กอยู่ประมาณ 30 คน ได้ค่าจ้าง 5,500 บาทต่อเดือน พอได้เป็นค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่ายในบ้าน เป็นอาชีพหลักที่ทำให้ “นายวิรัช” เลี้ยงครอบครัวได้ทั้งที่อายุก็มากเลยวัยเกษียณแล้ว

ส่วนเรื่องบ้านที่แม้ดูภายนอกจะหลังใหญ่ แต่ภายในนั้นปลวกได้เจาะทำลายพื้นไม้จนไม่สามารถขึ้นไปอยู่บนชั้นสองได้แล้ว แถมหลังคาก็รั่วคุ้มแดดได้แต่ไม่คุ้มฝน ในวันที่มีฝนตกทุกคนในบ้านจึงต้องช่วยกันเอาถังมารองน้ำฝนแล้วไปเททิ้งนอกบ้าน และยังเสี่ยงกับงู แมลง ตะขาบที่หนีน้ำมา บ้านจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องปรับให้ดีขึ้น ซึ่งนายอำเภอจะประสานงานให้ พมจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยดูแล

นพ.ธารา เล่าว่า ณ วันนี้ครอบครัวของนายวิรัช ยังสามารถดูแลพึ่งพากันได้ แต่ในอีก 4 - 5 ปีข้างหน้า จะทำอย่างไร ดังนั้นในปีงบประมาณ 2559 จึงจะนำงบประมาณที่ได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาเพื่อพัฒนาระบบดูแลผู้สูงวัยระยะยาว (Long Term Care) ให้ลูกหลานในชุมชน เน้นเด็กนักเรียนมัธยมปลายให้มาเป็นอาสาสมัครเพื่อดูแลผู้สูงวัยในชุมชนของตนเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยดูแลผู้สูงวัยแล้ว ยังเป็นการเชื่อมประสานสายใยรักของคนสองวัยให้เข้าใจ ผูกพันกัน ลดความเสี่ยงต่อการออกนอกลู่ของวัยรุ่นได้อีก

ในอนาคตจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพัง และเผชิญกับความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องหาทางแก้ไขร่วมกัน วันนี้ อ.อาจสามารถได้เริ่มเดินหน้า ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบแล้ว อนาคตข้างหน้าคนอาจสามารถไม่ลำบากแน่นอน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่







กำลังโหลดความคิดเห็น