แพทย์เตือน “คนนอนในน้ำท่วม” สุดเสี่ยงติดเชื้อ เกิดเชื้อรา ผิวหนังเปื่อย อักเสบ เหตุน้ำสกปรก ย้ำไม่ควรทำ พ่วงอันตรายจากไฟฟ้าดูด แนะดูแลสุขภาพป้องกันโรคอุจจาระร่วง ตาแดง แมลงมีพิษกัดต่อย
จากอิทธิพลของพายุ “หว่ามก๋อ” ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดฝนตกอย่างหนัก โดยเฉพาะพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ที่เกิดเหตุการณ์น้ำฝนไหลบ่าเข้าท่วมเมือง บางรายต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ขณะที่สังคมออนไลน์ปรากฏภาพบางรายนอนหลับท่ามกลางน้ำที่ท่วม ขณะที่ยังมีการเสียบปลั๊กสายไฟอยู่บริเวณชั้นวางของเหนือที่นอน
วันนี้ (17 ก.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนถึงโรคภัยที่อาจเกิดขึ้น ว่า โรคและภัยสุขภาพที่มักมากับน้ำท่วม คือ โรคติดเชื้อ โรคน้ำกัดเท้า ไฟฟ้าดูด และแมลงมีพิษกัดต่อย เป็นต้น อย่างรายที่เดินลุยน้ำ หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ก็มีความเสี่ยงต่อโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา โดยเชื้อราจะทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลมและคัน หากเกา แผลจะแตก และมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำท่วมขัง ถ้าจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูต และเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังขึ้นจากน้ำ และหากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวก่อนที่จะลุกลามจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน
นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนคนที่นอนแช่น้ำท่วมก็เสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดได้ ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง พิการ และเสียชีวิตได้ แม้จะมีการย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นที่สูงก็ตาม แต่ควรงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เนื่องจากตัวเปียกอยู่ตลอดเวลา หรือตัวยังอยู่ในน้ำ ก็อาจเกิดความเสี่ยงได้ รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิทซ์ไฟขณะตัวเปียกด้วย ทั้งนี้ ช่วงน้ำท่วมขอให้ขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไวที่สุงที่น้ำท่วมไม่ถึง และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด หากระดับน้ำท่วมขังสูงเกินกว่าปลั๊ก หรือเมนสวิตช์ อย่าเดินลุยน้ำ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อใช้เป็นทางเดินไม่ให้ร่างกายถูกน้ำ และควรระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าให้เล่นน้ำบริเวณใกล้เสาไฟ
นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนโรคติดเชื้อที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคอุจจาระร่วงและโรคตาแดง จากข้อมูลเฝาระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแตวันที่ 1 มกราคม - 14 กันยายน 2558 โดยทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 768,127 ราย ผู้ป่วยโรคตาแดง 86,861 ราย โดยโรคอุจจาระร่วง สาเหตุมาจากการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนเปื้อน ป้องกันโดยดูแลสุขอนามัย ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค ส่วนโรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ขอให้ประชาชนล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย อย่าให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในน้ำ นอกจากนี้ ยังมีอันตายที่เกิดจากสัตว์และแมลงมีพิษกัดต่อยด้วย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ควรดูแลรักษาความสะอาดในบ้าน จัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่วางของกองทิ้งใกล้บ้าน เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของสัตว์มีพิษต่าง ๆ
ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า การนอนท่ามกลางน้ำท่วม ถือว่าอันตราย และไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะน้ำท่วมนั้นเป็นน้ำที่ไม่สะอาด หากนอนแช่ในน้ำท่วมอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ คือ 1. การติดเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผิวหนังมีบาดแผล โรคที่ต้องระมัดรัวังอย่างยิ่ง คือ โรคฉี่หนู ซึ่งอาจมีทั้งอาการไม่รุนแรง จนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 2. หากแช่น้ำเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดปัญหาเกิดผิวหนังอับชื้น เกิดเชื้อราขึ้นที่ผิวหนัง เกิดกลากขึ้น และ 3. ผิวหนังเปื่อย ผิวหนังระคายเคือง ทั้งนี้ ช่วงน้ำท่วมหากหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำได้ควรหลีกเลี่ยง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วขอให้รีบชำระล้างร่างกายให้สะอาด และเช็ดตัวให้แห้ง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่