โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคที่พบว่าระบาดมากที่สุดในช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่างๆจากสภาพแวดล้อม ไหลมารวมกันอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขัง ซึ่งโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข และแรคคูน
โดยสัตว์ที่เป็นพาหะอาจไม่แสดงอาการ แต่มีการติดเชื้อที่ท่อไต ทำให้มีการปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ ซึ่งเชื้อจะแฝงอยู่ในจุดที่น้ำท่วมขังตามดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำ ลำคลอง และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
ใครมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคฉี่หนูบ้าง
• ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่มีน้ำท่วมขัง
• ผู้ที่ต้องทำงานในภาคเกษตร (ชาวนา ชาวไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น คนงานบ่อปลา ฯลฯ)
• คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ
• คนงานเหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์ รวมถึงผู้ที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก
โรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อหรือไม่
เชื้อโรคฉี่หนูสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีแผล หรือรอยขีดข่วน หรือผิวหนังที่เปื่อย เนื่องจากแช่อยู่ในน้ำนานๆ และผ่านเข้าทางเยื่อบุที่อ่อนนุ่ม เช่น ตา จมูก ปาก มักจะพบเชื้อในน้ำ ซึ่งอาจติดโรคขณะว่ายน้ำ หรือขณะประกอบอาชีพ เช่น สัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือดของสัตว์ที่มีเชื้อโดยตรง โดยสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ แต่ไม่พบการติดต่อจากคนถึงคนโดยตรง
ซึ่งเชื้อเลปโตสไปร่า (Leptospira) อาจถูกขับออกมาในปัสสาวะผู้ป่วยต่อเนื่องยาวนานถึง 1 เดือน โดยระยะฟักตัวของโรคจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์
อาการแสดงภายหลังการติดเชื้อ
ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้จำนวนหนึ่งอาจไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ อาจแบ่งเป็น 2 ระยะดังนี้
• ระยะแรก (Leptospiremic phase)
4 - 7 วันแรกของการดำเนินโรค จะมีอาการไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ สับสน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง น่อง และต้นคอ คลื่นไส้อาเจียน มีอาการตาแดง มักพบใน 3 วันแรกของโรค และเป็นอยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์ ตาเหลือง ตัวเหลือง มีอาการคอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับ ม้ามโต (อาจพบได้แต่ไม่บ่อย)
• ระยะที่สอง (Immune phase)
ผู้ป่วยจะเริ่มสร้างโปรตีนที่เฉพาะต่อเชื้อโรคฉี่หนู โดยพบหลังจากเริ่มมีอาการไข้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจะมีช่วงที่ไข้ลงประมาณ 1 - 2 วันแล้วกลับมีไข้ขึ้นอีก
ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน (อาการมักรุนแรงน้อยกว่าอาการในช่วงแรก) อาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ หน้าที่ของตับและไตผิดปกติ ระยะนี้อาจกินเวลาได้นานถึง 30 วัน แต่อาการนี้ไม่ได้เกิดในผู้ป่วยทุกราย ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีตาเหลือง และกลุ่มที่ไม่มีตาเหลือง
การป้องกันการติดเชื้อ
ป้องกันการเกิดโรคด้วยการ
• หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ หรือสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนู เช่น การเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนานๆ
• ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ
• หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ต เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล และระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบู๊ตที่ใส่
• กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู
• กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย
• หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ ในแหล่งน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่
• ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรค ควรใช้ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ต
• หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องทำงานในสภาวะดังกล่าว ควรสวมใส่เครื่องป้องกัน
• รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากไปแช่ หรือย่ำน้ำ ที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ เช็ดตัวให้แห้ง
หมายเหตุ
ลักษณะอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือ การสัมผัสน้ำ แก่แพทย์ผู้รักษาให้ทราบด้วย หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้น อาจเสียชีวิตได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 177 กันยายน 2558 โดย รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)