xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ปทุมธานี แจงลูก “ยอดรัก” ตายหลังคลอด พบเด็กผิดปกติจากแม่อายุมาก ยันดูแลทุก 2 ชม.ขณะรอคลอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.ปทุมธานี แจงลูก “ยอดรัก เพชรสุวรรณ” ตายหลังคลอด พบเด็กโครโมโซมผิดปกติจากแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ยันขณะคลอดทุกอย่างปกติ คาดเด็กทนแรงบีบมดลูกไม่ไหว ส่งชันสูตร รพ.ธรรมศาสตร์ฯ หาสาเหตุเสียชีวิตแล้ว เผย ช่วงฝากครรภ์คลินิกเอกชนไม่ได้เจาะน้ำคร่ำตรวจความผิดปกติก่อน ระบุผู้ป่วยไม่ติดใจเด็กผิดปกติ แต่ติดใจพยาบาลไม่ดูแลช่วงใกล้คลอด แต่ยันมีการดูแลทุก 2 ชั่วโมง

จากกรณีโซเชียลมีเดียได้เผยแพร่เรื่องของ นายยอดรัก เพชรสุวรรณ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ที่ต้องสูญเสียลูกหลังจากภรรยาคลอดบุตรได้เพียง 40 นาที โดยให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีปล่อยปละละเลยให้นอนรอปวดท้องคลอดตั้งแต่ 23.00 น. ถึง 05.00 น. แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลถึงสาเหตุการเสียชีวิตของลูกแต่อย่างใด ทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่ง ระบุว่า ควรรอคำชี้แจงจากโรงพยาบาลก่อน

วันนี้ (19 ก.ย.) นพ.มณเฑียร เพ็งสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.ปทุมธานี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ป่วยด้วย สำหรับกรณีดังกล่าวมารดารายนี้อายุ 41 ปี ถือว่าอายุค่อนข้างมากในการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยมารอคลอดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา เวลา 12.50 น. มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ มีอาการมูกเลือดออกที่ช่องคลอด ซึ่งจากการตรวจของสูตินรีแพทย์ พบว่า ปากมดลูกยังไม่เปิด และระดับหน้าท้องเล็กกว่าปกติ มีอาการเจ็บครรภ์ห่างๆ แต่จากการติดเครื่องฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์เพื่อดูว่าเด็กผิดปกติหรือไม่ ต้องรีบคลอดหรือไม่ ก็พบว่าทุกอย่างเป็นปกติทั้งหมด จึงให้คนไข้นอนรอคลอดโดยมีพยาบาลดูแลทุก 2 ชั่วโมง ซึ่งมีบันทึกหลักฐานชัดเจน โดยระยะเวลาการรอคลอดก็เป็นไปตามมาตรฐาน อัตราการเปิดของปากมดลูกเป็นไปตามปกติ คือ เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร จนกระทั่งคลอดเมื่อช่วงประมาณ 06.00 น.

“ขณะรอคลอดทุกอย่างเป็นปกติทั้งหมด ส่วนการคลอดก็คลอดง่าย เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่ 3 แต่ขณะเบ่งคลอด พบว่า เสียงหัวใจทารกลดต่ำผิดปกติ จึงรายงานกุมารแพทย์เพื่อช่วยเหลือ โดยทารกที่คลอดเป็นทารกเพศหญิง น้ำหนัก 1,830 กรัม แต่คลอดออกมาแล้วไม่ร้อง ตัวเขียว หัวใจเต้นช้าน้อยกว่า 100 ครั้งต่อนาที กุมารแพทย์จึงช่วยทำการกู้ชีวิตทารกประมาณ 40 นาที แต่ไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตลง ซึ่งจากการดูรูปร่างหน้าตาของเด็กแล้ว ทั้งมือ นิ้ว แขนขา และใบหน้า เหมือนเป็นผู้ที่มีโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งตรงนี้คาดว่ามาจากคุณแม่มีอายุมาก ซึ่งเสี่ยงเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ ตามปกติแล้วมารดาที่อายุมากกว่า 35 ปีทุกราย จะต้องมีการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจความผิดปกติของเด็กในช่วงก่อน 20 สัปดาห์แรก เพราะหากเด็กมีความผิดปกติของโครโมโซมมากๆ ก็อาจแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ เพราะเด็กอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้” นพ.มณเฑียร กล่าว

นพ.มณเฑียร กล่าวว่า ในช่วงแรกมารดารายนี้ไปฝากครรภ์กับทางคลินิกเอกชน 3 ครั้ง ก็มีการแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำตรวจ แต่ทางมารดาไม่ได้ตรวจ และช่วงหลังจึงมาฝากครรภ์ต่อที่ รพ.ปทุมธานี อีก 6 ครั้ง แต่การอัลตราซาวนด์ในภายหลังไม่ช่วยให้มองเห็นความผิดปกติของร่างกายหรือหัวใจของเด็ก แต่อาจเห็นเพียงว่าเด็กมีขนาดตัวเล็กกว่าปกติหรือไม่ น้ำหนักน้อยกว่าปกติหรือไม่ ส่วนการเจาะน้ำคร่ำก็จะไม่ดำเนินการหลัง 20 สัปดาห์แล้ว เพราะจะเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ ได้มีการเจรจากับทางผู้ป่วยในการส่งศพทารกไปชันสูตรที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งจะต้องรอผลประมาณ 4 สัปดาห์ แต่จากการสันนิษฐานน่าจะมาจากความผิดปกติของตัวเด็กเองในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนคลอด เพราะเป็นช่วงที่มดลูกบีบรัดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งหากเด็กมีความผิดปกติ เช่น หัวใจ อาจทำให้ทนต่อการบีบตัวของมดลูกไม่ไหว แต่คงต้องรอผลชันสูตรอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

“เท่าที่พูดคุยกับทางผู้ป่วยไม่ได้ติดใจในเรื่องที่เด็กมีอาการผิดปกติและเสียชีวิต แต่ติดใจในช่วงขณะปวดท้องคลอดแล้วไม่ได้รับการดูแลมากกว่า อาจจะด้วยความกังวลว่าจะคลอดแล้วเหตุใดจึงไม่มาดู ซึ่งตรงนี้น่าจะเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน โดยช่วงประมาณ 04.00 น. ทางมารดามีการตะโกนเรียกพยาบาล ซึ่งด้วยความที่เป็นเตียงที่อยู่ด้านท้ายๆ ห่างไกลจากเคาน์เตอร์พยาบาล ทำให้พยาบาลไม่ได้ยิน ซึ่งจากการสอบถามพยาบาลที่ดูแลก็ยืนยันว่าไม่ได้ยินเสียงตะโกนเรียกของมารดา และทางมารดาก็ไม่ได้ใช้ออดบนหัวเตียงในการเรียกแต่อย่างใด จนกระทั่งช่วง 05.00 น. ที่มารดาทนไม่ไหวกรีดร้องเสียงดังจึงได้ยินแล้วเข้ามาดูแล และพบว่าใกล้คลอดแล้วจึงนำไปที่เตียงรอคลอด และคลอดเมื่อช่วงเวลา 06.00 น.”

นพ.มณเฑียร กล่าวและว่า ยืนยันว่า มีการดูแลผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับมารดาที่มีอาการปกติ แต่หากมารดามีอาการผิดปกติ มีความเสี่ยงสูงก็จะดูแลบ่อยครั้งกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น