xs
xsm
sm
md
lg

หญิงท้องเสี่ยงภาวะฉุกเฉิน 2 ช่วง อันตรายถึงชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. เผย หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงเกิดภาวะฉุกเฉิน 2 ช่วง ทั้งเลือดออกผิดปกติ ตั้งครรภ์นอกมดลูก ตกเลือด ความดันสูง และครรภ์เป็นพิษ อันตรายถึงเสียชีวิตได้ หากพบมีอาการแจ้งสายด่วน 1669 แนะลูกอาศัยวันแม่พาแม่ตรวจสุขภาพ ป้องกันภาวะฉุกเฉิน

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินของคนเป็นแม่นั้น ขึ้นอยู่กับอายุและการดูแลร่างกายของแม่ ซึ่งตามปกติแม่ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น จะมีภาวะเสี่ยงต่อโรคฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้น ลูกๆ ควรดูแลให้แม่ตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อดูว่ามีภาวะเสี่ยงหรือไม่ ที่สำคัญ ควรชวนกันออกกำลังกาย ควบคุมการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉิน ส่วนแม่วัยรุ่นที่มีลูกเล็ก ก็ต้องดูแลตัวเองดีๆ เพราะนอกจากจะต้องดูแลลูก ก็ต้องหาเวลาดูแลสุขภาพตัวเองด้วย เนื่องจากผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคเฉพาะบางอย่างมากกว่าผู้ชาย

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ส่วนแม่ที่ตั้งครรภ์ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะยิ่งมีความเสี่ยง โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์และการคลอด ซึ่งจากสถิติพบว่าตลอดทั้งปี 2559 ที่ผ่านมา มีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจากการตั้งครรภ์การคลอดและนรีเวช 26,461 คน โดยในช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงเดือนของวันแม่มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลจากการคลอด 2,937 คน โดยภาวะฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ปัจจัยที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้แม่ตั้งครรภ์ได้รับอันตราย คือ ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุและจะมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป อาทิ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะตกเลือด และภาวะเลือดออกในช่องท้องจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจทำให้แม่เสียเลือดมาก ซึ่งถือเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ

“อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูกสามารถสังเกตได้ดังนี้ แม่จะปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาโดยฉับพลัน มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดสลับกับมีอาการหน้าท้องอืดตึง พร้อมทั้งคลำเจอก้อนที่ท้องและมีอาการอ่อนเพลียหรือหน้ามืดในขณะที่ลุกขึ้นนั่ง นอกจากนี้ ยังพบภาวะความดันโลหิตต่ำและชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งหากพบเห็นแม่ที่มีอาการเช่นนี้ควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ต่อไป” รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวและว่า ส่วนภาวะความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ครึ่งหลัง คือ ภาวะความดันโลหิตสูง และครรภ์เป็นพิษ แม่จะมีอาการความดันโลหิตสูงมาก อวัยวะภายในร่างกายหลายระบบล้มเหลว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้แม่และเด็กเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดตีบ เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ซึ่งในบางรายที่มีอาการหนักมากจะทำให้เกิดอาการชักและมีเลือดออกในสมอง ทั้งนี้ แม่ที่ครรภ์เป็นพิษ จะมีอาการปวดศีรษะ ตามัว เกิดอาการบวมที่ขาแขน หรือใบหน้า มีน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และปวดท้องจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่
กำลังโหลดความคิดเห็น