คนไทย 80% กินอาหารเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ก่อโรคอ้วน เมตาบอลิกซินโดรม โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แนะปรับพฤติกรรมการกินให้ถูกหลักโภชนาการ ควบคุมอาหาร ด้าน “สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ” ระดมบุคลากรทางการแพทย์สู่การป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
วันนี้ (7 ส.ค.) สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการป้องกันและส่งเสริมคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีระดมทีมแพทย์ บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน จากทั่วประเทศกว่า 100 คน จัดอบรมในแนวคิด “มีสุขภาพดี...คุมได้ แก้ไขได้ทัน...สรรค์ความช่วยเหลือ” ภายในงานได้มีการแบ่งกลุ่ม Workshop ฝึกปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดีตามฐานต่างๆ
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดของโครงการนี้ จะประกอบด้วย 4 กรอบหลัก คือ 1. การทำให้ มีสุขภาพดี 2. หากมีโรคประจำตัว หรือเจ็บป่วย ฉุกเฉินใด ผู้ป่วย หรือญาติสามารถดูแล และ ควบคุมโรคประจำตัว หรือการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3. หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรง ผู้ป่วย หรือญาติ ควรทราบวิธี ช่องทางในการสอบถาม วิธีการแก้ไขเบื้องต้น หรือติดต่อขอรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้อย่างถูกต้อง และ เหมาะสม 4. การเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้น เสียชีวิตได้อย่างเหมาะสมเมื่อพบผู้ประสบเหตุ
ศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า 70% ของประชากรโลกที่เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ละเลยการออกกำลังกาย สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2556 พบว่า สาเหตุการตายของคนไทย 3 อันดับแรก คือ มะเร็ง อุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด ตามลำดับ สิ่งที่จะทำให้ประชาชนไม่เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเจ็บป่วยฉุกเฉิน คือ การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งดัชนีมวลกายให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และ สารเสพติด มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีการป้องกันที่ถูกต้อง นอกจากจะลดการติดโรคที่มาจากเพศสัมพันธ์แล้ว ยังเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อีก รวมทั้งมีตรวจร่างกายตามวัย ตามเพศ ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเหมาะสม สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วง คือ คนไทยมีการกินอาหารที่มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะอ้วนมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่อ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกิน เสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ มากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ
ด้าน นางศัลยา คงสมบูรณ์เวช ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา การกินอาหารของคนไทยส่วนมากมุ่งเน้นไปที่รสชาติ และหน้าตาของอาหาร มากกว่าจะคำนึงถึงคุณค่าสารอาหาร นอกจากนี้ ยังมีการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โซเดียม แป้ง ไขมัน แฝงเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้แคลอรีเกิน สำหรับตัวอย่างของหวานและเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่เกินความจำเป็นที่เห็นกันอยู่เสมอ เช่น ชานมไข่มุก กาแฟเย็นรสต่างๆ เบเกอรีขนมหวาน
“จากประสบการณ์ที่ดูแลผู้ป่วย พบว่า มีประชาชนเพียง 20% โดยประมาณที่บริโภคอาหารถูกต้อง ส่วนที่เหลือ 80% เป็นการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ได้รับสารอาหารไม่สมดุลต่อร่างกาย เช่น บางคนไม่กินผัก หรือผลไม้ บางคนกินแป้ง ไขมัน โซเดียมมากเกินควร ส่งผลให้ได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน เมตาโบลิกซินโดรม และกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ส่วนวิธีการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างง่ายๆ ในการป้องกันโรค คือ ลดความหวาน มัน เค็ม รับประทานผักที่หลากหลายสี ผลไม้ที่หลากหลายชนิดตามฤดูกาล วันละ 2 ชนิดในปริมาณพอสมควร ข้าว แป้ง โปรตีนหรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อย่างละ1/4ของมื้ออาหารที่รับประทานผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ วันละ 1 - 2 ครั้ง ก็จะได้รับสารอาหารครบทุกหมู่ และได้รับสารอาหารสมดุล” นางศัลยา กล่าว