ผู้ว่าฯ กทม. นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วย นายทหาร พัฒนาป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬพร้อมปราการ ขัดล้างตะไคร่ ตัดกิ่งวัชพืชที่ขึ้นตามกำแพง ทาสี ทำความสะอาดป้อมมหากาฬและบริเวณโดยรอบ รองรับเส้นทางสายหลักของขบวนเสด็จพิธีถวายพระเพลิง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อนที่จะมีการปรับแก้แผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ในบริเวณให้สอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์ คาดแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
วันนี้ (23 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรมพัฒนาป้อมพระสุเมรุ และ ป้อมมหากาฬพร้อมปราการ ด้วยการทำความสะอาด กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวาง เก็บกวาดขยะ มูลฝอย เศษวัสดุ และทาสีป้อมฯ ตลอดจนกำแพงชั่วคราว เพื่อรักษาโบราณสถานที่ทรงคุณค่าแห่งนี้ให้อยู่คู่ชาติต่อไป สำหรับป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ เป็นป้อมรักษาพระนครที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรุงเทพมหานครได้กำหนดจัดกิจกรรมพัฒนาป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬขึ้น ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากรให้รับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาโบราณสถานดังกล่าว โดยเริ่มพัฒนาป้อมมหากาฬเป็นอันดับแรกก่อนจะไปพัฒนาป้อมพระสุเมรุต่อไป
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ป้อมต่างๆ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2326 โดยได้สร้างไว้ทั้งหมด 14 แห่ง แต่ปัจจุบันคงเหลือเพียง 2 แห่ง คือ ป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ เท่านั้น ซึ่งหลังจากมีการสร้างป้อมขึ้น ได้มีการบูรณะป้อมเพียงครั้งเดียวเมื่อปี พ.ศ. 2525 โอกาสครบรอบ 200 ปี ในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนกิจกรรมการพัฒนาป้อมในวันนี้ เนื่องจากใกล้จะถึงวันจัดพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม 2560 กรุงเทพมหานคร จึงมีต้องการจะปรับปรุงป้อมทั้ง 2 แห่ง ที่มีความทรุดโทรมให้มีความสวยงาม เนื่องจากป้อมตั้งอยู่ในบริเวณเส้นทางสายหลักของขบวนเสด็จ และเป็นเส้นทางที่แขกบ้านแขกเมือง ชาวต่างชาติ ตลอดจนนักท่องเที่ยวใช้สัญจรผ่าน โดย แนวทางการพัฒนาป้อมปราการทั้งสองแห่งนั้น กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามข้อพึงระวังที่กรมศิลปากรได้ฝากไว้ ในการทำความสะอาดพื้นผิวป้อมภายนอก นอกจากนั้นยังมีการถางวัชพืชและกำจัดสิ่งกีดขวางในเขตโบราณสถาน เพื่อให้มีความสะอาดเรียบร้อยและป้องกันความเสียหายหรือการเสื่อมสภาพที่อาจเกิดขึ้นจากวัชพืชและสิ่งกีดขวางต่างๆดังกล่าว รวมทั้งอาจมีการใช้น้ำยากันตะไคร่สูตรน้ำเพื่อกันน้ำซึมและป้องกันความชื้นสะสมบริเวณพื้นผิว เพื่อไม่ให้เกิดตะไคร่น้ำ เชื้อรา ส่วนการตัดกิ่งไม้ต้องพึงระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโบราณสถาน เป็นต้น
ทั้งนี้ ป้อมมหากาฬตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับชุมชนบริเวณป้อมมหากาฬ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ดังกล่าว โดยที่ผ่านมาได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือ เพื่อพิสูจน์คุณค่าบ้านภายในชุมชนบริเวณป้อมมหากาฬในการพิจารณากรอบการอนุรักษ์ในด้านต่างๆ 5 ด้าน ประกอบด้วย คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ เชิงศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และผังเมือง เชิงสังคมและวิถีชีวิต เชิงโบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และคุณค่าด้านอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสาร และข้อสรุปในการประชุมในแต่ละครั้งเพื่อเสนอให้รัฐบาลใช้ประกอบการตัดสินใจต่อไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของชุมชนบริเวณป้อมมหากาฬนั้น ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งจากเดิมมีกว่า 50 หลัง ปัจจุบันเหลือเพียง 29 หลัง และจะทยอยรื้อย้ายอีกประมาณ 12 หลัง ส่วนที่เหลือจะพิจารณาว่าจะอนุรักษ์อย่างไร โดยขั้นตอนการทำงานต่างๆ เรียบร้อยดี สำหรับการทำงานของกรุงเทพมหานครนั้น จะทำแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยใช้การเจรจาเป็นหลัก แต่ที่ประชาชนชาวป้อมมหากาฬยังไม่ย้ายออกไปนั้น เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องการย้ายโรงเรียนของบุตรหลาน จึงขอขยายเวลาออกไปก่อน อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครก็ได้เตรียมหาที่พักใกล้ๆ ให้ก่อนจะปิดเทอมในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬยืนยันจะย้ายออกจากพื้นที่ป้อมมหากาฬ ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้แน่นอน