xs
xsm
sm
md
lg

การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เมื่อคราวพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็น Landmark หรือสัญลักษณ์ของประเทศไทย ในสมัยก่อนชาวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยทางเรือเข้ามาทางปากน้ำสมุทรปราการและมาถึงในยามเช้าจะเห็นพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามงดงามเด่นเป็นสง่าทำให้ผู้เดินทางทราบว่าได้เข้ามาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว ฝรั่งเลยเรียกว่า Temple of dawn ตามชื่อวัดอรุณหรือวัดแจ้ง

วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดประจำรัชกาลที่สอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้น แม่งานถวายคือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างที่ทราบดีว่าทรงค้าขายทางสำเภากับจีน ตอนขนข้าวขนไม้สักไปค้าขายนั้นบรรทุกหนัก ขากลับทรงให้บรรทุกอับเฉาของหนักถ่วงสำเภาไม่ให้โคลงเคลง อับเฉาเหล่านั้นได้แก่ตุ๊กตาหินและชามกระเบื้องลายครามของจีน กระเบื้องเหล่านี้เองที่นำมาติดพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามก็มาจากอับเฉาเหล่านั้น และในภายหลังก็อาจจะมีการเผากระเบื้องเหล่านั้นในประเทศไทย

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุเท่ากับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงคิดจะทำพระราชกุศลและบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามถวายเป็นเครื่องหมายแสดงกตัญญุตาทิคุณแต่พระบรมราชบุพการี

การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามนั้น เป็นกิจการอันสำคัญยิ่ง ที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลกำกับด้วยพระองค์เองดังมีพระราชหัตถเลขาไปยังพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล)

ในพระราชหัตถเลขานั้นลงพระนาม สยามินทร์ ดังนี้

"...การซ่อมพระปรางค์วัดอรุณ และบริเวณ ต้องตั้งใจว่า จะรักษาของเก่าที่ยังคงใช้ได้ไว้ให้ทั้งหมด ถึงสีจะมัวหมองเป็นของเก่ากับใหม่ต่อกัน เช่น รูปภาพเขียน ลายเพดาน เป็นต้น อย่าได้พยายามที่จะแต่งของเก่าให้สุกสดเท่าของใหม่ ถ้าหากกลัวอย่างคำที่เรียกว่า ด่าง ให้พยายามที่จะประสมสีใหม่อ่อนลง อย่าให้สีแหลมเหมือนที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ พอให้กลืนไปกับสีเก่า ลวดลายฤารูปพรรณอันใดก็ตามให้รักษาคงไว้ตามรูปเก่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงแห่งใดสิ่งใดให้ดีขึ้น ต้องให้กราบทูลก่อนฯ..."

ทรงให้พระยาราชสงครามทำงบประมาณถวาย และทรงเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเสนาบดีสภา อันมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงสมเด็จครูช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และเสนาบดีกระทรวงวัง กรมพระสมมตอมรพันธ์เป็นผู้จัดงบประมาณถวายโดยมีพระบรมวงศานุวงษ์และประชาชนเป็นอันมากร่วมถวายเงินเพื่อบูรณะพระปรางค์วัดอรุณในคราวนั้นด้วย

พลเรือเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ผู้ทำงานถวายในการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นบุตรพระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๐๖ ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๑๒ ปีกุน ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๒

รับหน้าที่เป็นนาวาสถาปนิกผู้ควบคุมการต่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน

เป็นนายช่างใหญ่ในการรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังเมื่อ พ.ศ. 2435 แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ มาสร้างในพระราชวังสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ"

ท่านเป็นสถาปนิกมือเอกที่พระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าให้ทำงานถวาย ผลงานเด่นสามชิ้น คือ บูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สร้างเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ และสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆ

ไม่ทราบว่ากรมศิลปากรทำงานบูรณะในสมัยนี้อย่างไร จ้างผู้รับเหมาอย่างไร แต่อยากให้ดูการบูรณะของโบราณสมัยพระพุทธเจ้าหลวงไว้เป็นตัวอย่าง

เรื่องสีขาวของพระปรางค์ที่มาจากปูนตำ อันอาศัยปูนขาวเผาจากเปลือกหอยและผสมคลุกเคล้ากับกาวหนังและน้ำตาลเคี่ยวนั้นไม่มีข้อกังขาและควรจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วไม่ควรใช้ปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์ซึ่งสีคล้ำและทำให้เก็บความชื้น แต่ฝีมือในการติดกระเบื้องพระปรางค์และกระเบื้องนั้นแตกต่างและไม่อาจจะเทียบกับสมัยโบราณได้เลย กระเบื้องเคลือบที่แกะออกมาแสนกว่าชิ้นจากพระปรางค์เอาไปบดทำพระผงจำหน่ายนั้นได้ทำบัญชีกันไว้ชัดเจนหรือไม่อย่างไร รายได้เข้าวัดหรือเอามาทำอะไรกันบ้างคงต้องชี้แจงให้ชัดเจนต่อไป













กำลังโหลดความคิดเห็น