xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้วประเพณีขึ้น “เขาสวาย” เมืองช้าง แห่เคาะระฆัง 1,080 ใบ ไหว้ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดแล้ว ประเพณีขึ้นเขาสวาย ประจำปี 2560 ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ ประชาชนหลั่งไหลเคาะระฆัง 1,080 ใบ กราบไหว้ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์  เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตตนเองและครอบครัว
สุรินทร์ - เปิดแล้ว ประเพณีขึ้นเขาสวาย ประชาชนหลั่งไหลเคาะระฆัง 1,080 ใบ กราบไหว้ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเองและครอบครัว เผยเป็นประเพณีตามความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกพันกับบรรพบุรุษชาวสุรินทร์มาแต่โบราณ



วันนี้ (29 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วนอุทยานพนมสวาย ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้เป็นประธานเปิดงานประเพณีขึ้นเขาสวายประจำปี 2560 เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) ซึ่งจังหวัดสุรินทร์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

สำหรับประเพณีขึ้นเขาสวาย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณ เมื่อถึงเดือนห้าของทุกปีบรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่าเป็นงานประเพณีหยุดงาน ซึ่งประเพณีการหยุดงานตามช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในทุกปีชาวจังหวัดสุรินทร์จะร่วมมือร่วมใจกันจัดงานบุญประเพณีขึ้นเขาสวาย ประกอบกับวันดังกล่าวถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ดังนั้นชาวสุรินทร์จะหยุดงานและพากันเดินทางไปขึ้นเขาสวายเพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลชีวิตแก่ตนเองและครอบครัว

โดยพากันประกอบกิจกรรมกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายหลักทั้ง 9 คือ พระใหญ่ หรือพระพุทธสุรินทรมงคล รอยพระพุทธบาทจำลอง อัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน ปราสาทหินพนมสวาย ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าหินศักดิ์สิทธิ์ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และร่วมเคาะระฆัง 1,080 ใบ เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย ซึ่งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมสำคัญ ผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นเมืองมาอย่างยาวนานแห่งหนึ่ง

“เขาสวาย” หรือ “พนมสวาย” ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาสวาย ในพื้นที่ ต.นาบัว และ ต.สวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 22 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ยๆ ติดต่อกัน รอบบริเวณมีเวิ้งน้ำใหญ่ ทิวทัศน์สวยงาม มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด มียอดเขาที่สำคัญ 3 ยอด ยอดที่ 1 เรียกว่า ยอดเขาชาย (พนมเปร๊าะ) สูง 220 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล และระฆังมหากุศล 1,080 ใบ จาก 1,080 วัด ยอดที่ 2 เรียกว่า ยอดเขาหญิง (พนมสรัย) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ยอดเขาที่ 3 เรียกว่า เขาคอก (พนมกรอล) สูง 150 เมตร เป็นที่ตั้งศาลาอัฐฐะมุข ซึ่งเป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง

“เขาสวาย” มีความสำคัญต่อชาวสุรินทร์มาตั้งแต่โบราณกาล กล่าวคือ เมื่อถึงเดือนห้าของทุกปีบรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือว่าเป็นงานประเพณีหยุดงาน ซึ่งการหยุดงานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตอมตู๊จ ซึ่งหมายถึงวันหยุดงานเล็ก จะมีการหยุดงาน ทำงานเพียง 3 วัน นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือนห้า ช่วงที่ 2 ช่วงตอมธม หมายถึง วันหยุดใหญ่ จะมีการหยุดทำงานทั้งหมด 7 วัน นับแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 7 ค่ำ เดือนห้า

ประเพณีการหยุดงานตามช่วงระยะเวลาดังกล่าว ชาวสุรินทร์มีความเชื่อว่าต้องหยุดการทำงานทั้งหมด หากใครไม่หยุดทำงานเชื่อว่าจะมีอันเป็นไป และในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ชาวจังหวัดสุรินทร์จะร่วมมือร่วมใจจัดงานบุญประเพณีขึ้นเขาสวายขึ้น ประกอบกับวันดังกล่าวถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ

ดังนั้น ชาวสุรินทร์จะหยุดงานและพากันเดินทางไปขึ้นเขาสวายเพื่อกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลชีวิตต่อตนเองและครอบครัว ซึ่งปีนี้อากาศไม่ค่อยร้อนเหมือนทุกปีที่ผ่านมาเนื่องจาก 2-3 วันที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่ทำให้อากาศไม่แห้งแล้ง ทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างทยอยไปร่วมประเพณีและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือบนวนอุทยานพนมสวายกันอย่างคึกคักตลอดทั้งวัน





กำลังโหลดความคิดเห็น