xs
xsm
sm
md
lg

ปลาบปลื้มได้ทำงานดาราศาสตร์สนองความสนพระราชหฤทัย “พ่อหลวง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทอดพระเนตรดาวศุกร์ตอนกลางวันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2501 (ภาพจากหนังสือชุดพระมหากษัตริย์กับดาราศาสตร์ไทย)
เป็นบุญของปวงชนชาวไทยที่มีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ และในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ยังเป็นยุคทองของดาราศาสตร์ ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่าหากพระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์ก็ทรงปรารถนาจะเป็นนักดาราศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์ “รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม” รู้สึกปลาบปลื้มและตั้งใจทำงานสนองพระราชปณิธาน

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ถือเป็นยุคทองของดาราศาสตร์ไทย เพราะในรัชสมัยของพระองค์มีการพัฒนาดาราศาสตร์ในหลายๆ เรื่อง

“อย่างเช่นการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัย มีการสอนวิชาดาราศาสตร์ และมีการทำวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ที่แผนกฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแห่งแรก และประการที่ 2 คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ คือ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” รศ.บุญรักษากล่าว

พร้อมกันนี้ ผอ.สดร.ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาดาราศาสตร์ไทยในเวลาต่อมา นั่นคือพิธีเปิดท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2507 ตรงกับวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิด อีกเหตุการณ์คือเมื่อปี 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปพร้อมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนฯ ทอดพระเนตรดาวศุกร์ตอนกลางวันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง 12 นิ้ว

“ผมเห็นภาพที่ได้รับจาก ศ.ดร.ระวี ภาวิไล ภาพนั้นนำไปประกอบในหนังสือ “พระมหากษัตริย์กับดาราศาสตร์ไทย” ซึ่งในเล่มเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ผมเขียนเอง โดยมีข้อมูลว่า ในปี 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่จุฬาฯ แล้วทอดพระเนตรผ่านกล้องดูดาวซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง 12 นิ้ว ดูดาวศุกร์ตอนกลางวัน ดาวศุกร์นี่เห็นได้ตอนกลางวันนะ อาจจะเป็นช่วงบ่ายๆ เพราะดาวศุกร์นี่สว่างมาก ตอนนั้นเสด็จฯ ไปพร้อมทูลกระหม่อมฯ และสมเด็จพระบรมฯ ก็มีรูปตอนที่ทั้งสองพระองค์ยังทรงพระเยาว์ นั่นเป็นสองเรื่องที่สำคัญมากที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ หลังจากเหตุการณ์ทั้งสองนั้นมีการจัดตั้งสมาคมดาราศาสตร์ไทย”

รศ.บุญรักษาเล่าต่อว่า เหตุการณ์สำคัญที่สุดหลังจากนั้นคือเมื่อปี 2547 ที่มีการเสนอตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่ง 2 วัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครบรอบ 200 ปีแห่งการพระราชสมภพในปี 2547 แล้วอีกวัตถุประสงค์คือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2550 ตอนนั้นเฉลิมพระเกียรติในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา นั่นคือเป้าหมายหลักของการจัดตั้งสถาบัน เพราะพระองค์ทรงสนพระทัยดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

“ตอนที่พระองค์ยังทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนที่โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ และประทับอยู่กับสมเด็จย่าและพระเจ้าพี่นางเธอ ในตอนนั้นสมเด็จย่าไปซื้อหนังสือดาราศาสตร์กับแผนที่ดาว และสอนพระองค์ท่าน เพราะท่านเรียนในห้องเรียนด้วย ข้อมูลนี้ตรงนี้ผมอ่านมาจากหนังสือเรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ระบุไว้ว่า สมเด็จย่าทรงสนพระทัยดาราศาสตร์ และสอนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อแผนที่ดาว แล้วก็ซื้อหนังสือชื่อว่า เลอซีล (Le Ciel) แปลว่าท้องฟ้า สอนจนกระทั่งกระดาษหลุดออกมา 2-3 แผ่น พระองค์ก็ยังทรงใช้อยู่” รศ.บุญรักษากล่าว

นอกจากนี้ รศ.บุญรักษาเล่าอีกว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยรับสั่งให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยรับสั่งอยู่หลายครั้งว่า ถ้าพระองค์ไม่ได้เป็นกษัตริย์ก็ทรงอยากเป็นนักดาราศาสตร์ และทรงอยากมีหอดูดาวอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ พยายามสร้างหอดูดาวแห่งชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ และพยายามสร้างให้เป็นหอดูดาวระดับโลก และเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามหอดูดาวแห่งชาติว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา” นับเป็นสิ่งที่ทีมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

“เรารู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ และสนองความสนพระราชหฤทัยจนกระทั่งพระองค์รับสั่งว่าอยากมีหอดูดาว อยากเป็นนักดาราศาสตร์ด้วย ในฐานะที่ผมเป็นผู้อำนวยการ ผมรู้สึกภาคภูมิใจมาก เราดีใจ ภูมิใจที่เกิดมาและโตมาในรัชกาลของพระองค์ แล้วก็ได้มีโอกาสทำในสิ่งที่เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้เป็นนักดาราศาสตร์จริงๆ ผมก็รู้สึกปลาบปลื้มมาก ผมถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ด้วยที่ทำให้การพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์เป็นไปตามพระราชประสงค์ และสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงสืบทอดพระประสงค์ แล้วก็ทำให้เราได้พัฒนาดาราศาสตร์อย่างเป็นปึกแผ่น มั่นคง และยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ทีมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ได้พัฒนาดาราศาสตร์ให้ก้าวหน้าขึ้นนั้นเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้ารับรักษาพระองค์ในโรงพยาบาล แม้ว่า รศ.บุญรักษาอยากกราบบังคมทูลเชิญพระองค์ไปเปิดหอดูดาวแห่งชาติที่ดอยอินทนนท์ แต่พระองค์ไม่สามารถเสด็จฯ ได้ และสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จฯ มาแทน แต่ทีมจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ก็ได้ทำสมุดภาพดาราศาสตร์ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในวังเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่หลายครั้ง ทั้งฉบับที่ยังไม่มีเครื่องมือสำหรับถ่ายภาพดาราศาสตร์ และฉบับที่เป็นสมุดภาพดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย

“นั่นเป็นสิ่งที่เราได้ทำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จริงๆ ผมยังได้ทำงานถวายแด่สมเด็จพระเทพฯ หลายเรื่อง พระองค์ทรงทราบว่าผมทำวิจัยกับประเทศจีนในเรื่องดาวคู่ สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าเรื่องดาวคู่ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าที่เชียงใหม่มีการทำวิจัยเรื่องดาวคู่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ดาวคู่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แล้วจะต้องค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับดาวคู่ต่อไป พระองค์รับสั่งอย่างนั้น สมเด็จพระเทพฯ ก็รับสั่งให้ผมฟัง 2-3 ครั้ง แต่ผมก็ไม่ได้เหตุผลว่าทำไมทรงรับสั่งว่าดาวคู่มีความสำคัญ แต่ผมก็เข้าใจเอาเองว่า ในจักรวาลของเรานั้นจริงๆ แล้วดาวส่วนใหญ่เกือบทุกดวงเป็นดาวคู่ แม้กระทั่งดวงอาทิตย์ของเรา ก็เชื่อว่ามีดาวคู่ชื่อว่า “เนเมซิส” วนรอบ และเชื่อว่าขณะที่โคจรเข้ามาใกล้ก็อาจจะทำให้ดาวหางมาชนโลกจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในเอกภพส่วนใหญ่จะลักษณะเป็นคู่” รศ.บุญรักษาให้ความเห็น

รศ.บุญรักษากล่าวว่า รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ทำงานและได้ทำในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือหลังจากนี้คือจะต้องมุ่งมั่นพัฒนาต่อไป โดยในส่วนของเขานั้นจะพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยใช้ดาราศาสตร์ และพัฒนาคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ เพื่อให้เป็นคนที่มาช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และจะตั้งใจทำหน้าที่ดังกล่าวเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้

สำหรับอนาคตดาราศาสตร์ไทยนั้น รศ.บุญรักษากล่าวว่า จากที่ในช่วงแรกได้พัฒนาโครงสร้างพื้นทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศ จนมีกล้องโทรทรรศน์ที่เป็นที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีมาตรฐานสากล ซึ่งได้ใช้ไปพัฒนาคน โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและโรงเรียน จนเกิดแรงบันดาลใจ เกิดการพัฒนางานวิจัยทางดาราศาสตร์และการตื่นตัวทางดาราศาสตร์ พร้อมยกตัวอย่างเยาวชนที่สมัครเข้าโครงการไปเข้าค่ายที่เซิร์น (CERN) ซึ่งสถาบันวิจัยทางด้านฟิสิกส์ขนาดใหญ่ระดับโลก และค่ายของสถาบันเดซี (DESY) สถาบันวิจัยด้านซินโครตรอนในเยอรมนี ว่าส่วนใหญ่มีแรงบันดาลใจจากดาราศาสตร์และอยากไปอบรมเพื่อรับความรู้ดาราศาสตร์หรือเอกภพวิทยา

“ส่วน สดร.นั้น นอกจากสร้างองค์ความรู้แล้ว เรายังสร้างเทคโนโลยีด้วย ตอนนี้มีเด็กฝึกงานมาฝึกทางด้านเทคโนโลยีที่ สดร.จำนวนมากเลย อันนี้เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ว่า สิ่งหนึ่งที่จะให้ประเทศเจริญได้ก็คือเรื่องคน และสมเด็จพระเทพฯ ก็รับสนองพระราชดำรินี้ และทรงเน้นเรื่องการศึกษา และเรื่องคน ทั้งคนทั่วไป คนที่ด้อยโอกาส ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในใจผมเลยว่าต้องทำในเรื่องการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ดีที่สุด อีกอย่างคือทำให้คนในประเทศเป็นคนที่เก่งให้ได้ ตรงนี้ผมถือว่าเป็นภารกิจในการสนองพระราชดำริพระเจ้าอยู่หัว” รศ.บุญรักษากล่าว
ภาพปกหนังสือ “รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ: ยุคทองของดาราศาสตร์ไทย”
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม
หอดูดาวแห่งชาติบนดอยอินทนนท์ (ภาพโดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์)






กำลังโหลดความคิดเห็น