xs
xsm
sm
md
lg

“ท้องฟ้าจำลอง” โฉมใหม่!!!...ใกล้ชิดดวงดารา ยลแสงเหนือสุดประทับใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ห้องการแสดงท้องฟ้าจำลอง” ณ อาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

ฉันชอบมองฟากฟ้าในยามค่ำคืน เพื่อดูดวงดาวเปล่งแสงระยิบระยับ มองดูแล้วเหมือนมหรสพอันงดงามที่ผันเปลี่ยนไปพร้อมๆ กาลเวลาที่เดินไปข้างหน้า เพราะดวงดาวที่ฉันได้เฝ้ามองนั้นจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งบนฟากฟ้าไปฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งดวงดาวมากมายบนฟากฟ้ายามราตรีก็ยังมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป จนเกิดเป็นคำถามว่า ณ เวลานี้ ดวงดาวที่ฉันได้มองอยู่นั้นมีชื่อว่าอะไร
ดวงดาวระยิบระยับในห้องแสดงท้องฟ้าจำลอง
และด้วยความโชคดี ฉันได้รู้มาว่า “ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” ได้พร้อมเปิดให้เข้าชมแล้ว หลังจากปิดปรับปรุงเมื่อปีที่แล้ว วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ฉันจึงไม่รอช้ารีบเดินทางเพื่อมาค้นหาชื่อของดวงดาวบนฟากฟ้าที่ฉันเฝ้ามองในทุกค่ำคืน

เมื่อฉันมาถึงก็ได้เห็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีหลังคาเป็นทรงกลม โดยอาคารท้องฟ้าจำลองแห่งนี้ตั้งอยู่ภายใน “ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา” บริเวณ ริมถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ท้องฟ้าจำลอง”
บรรยากาศนักท่องเที่ยวกำลังเดินเลือกที่นั่งชมดวงดาว
ก่อนที่จะเข้าไปชมดวงดาวและเข้าไปหาคำตอบ ฉันก็จะขอเล่าถึงประวัติคร่าวๆ ของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพให้ได้ฟังกันก่อน “เมื่อปี พ.ศ. 2505 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการจัดสร้างอาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2507 เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ในเรื่องดาราศาสตร์และให้ความเพลิดเพลินที่เสมือนจริง ทำให้เข้าใจได้ง่าและรวดเร็วกว่าการอธิบายด้วยปากเปล่า”
การแสดง “กลุ่มดาว” บนฟากฟ้า
และฉันก็ได้รู้มาอีกว่า ปัจจุบันหลังได้รับการปรับปรุงโฉมใหม่แล้ว ภายในอาคารแห่งนี้ได้จัดแสดงการฉายภาพดาวในจักรวาลด้วยเครื่องฉายดาวระบบดิจิตอลความละเอียด 4K ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น สามารถแสดงภาพดวงดาวบนท้องฟ้าของประเทศใดก็ตาม ตามวันและเวลาที่ต้องการ อาทิ สามารถฉายดาวฤกษ์ได้ 9,000 ดวง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ กลุ่มดาวต่างๆ และกิจกรรมบนท้องฟ้าอีกมากมาย
การแสดง “กลุ่มดาวลูกไก่”
หลังจากเดินชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์อื่นๆ รอเวลาเข้าชม ในที่สุดก็ถึงรอบการแสดงสักที และฉันเดินต่อแถวย่างก้าวเข้าไปสู่ห้องขนาดใหญ่ ที่มีหลังคาเป็นโดมโค้งมีดวงดาวเปล่งประกายเคล้ากับเพลงบรรเพลงไพเราะ บรรยากาศภายในห้องจัดแสดงแห่งนี้ จะมีเครื่องฉายตั้งอยู่ที่กลางห้องซึ่งถูกรายล้อมด้วยที่นั่งอย่างดีเป็นแถววงกลม มองดูแล้วเหมือนโรงละครออร์เคสตรา ทำเอาฉันตื่นตาตื่นใจจริงๆ
การแสดง “กลุ่มดาวนายพราน” หรือ “ดาวไถ”
และเวลาที่ฉันรอคอยก็มาถึง การแสดงดวงดาวได้เริ่มต้นพร้อมกับท่านวิทยากรอธิบาย ภาพแรกเริ่มมหรสพครั้งนี้คือดวงอาทิตย์ที่ในตำแหน่งเวลาปัจจุบัน หลังจากนั้นมันก็เคลื่อนคล้อยตกไปทางทิศตะวันตก ฟากฟ้าจึงได้แปลเปลี่ยนมาเป็นดวงดาวมากมายเปล่งแสงระยิบระยับ และท่านวิทยากรได้กล่าวว่า “ดวงดาวที่ได้เห็นอยู่นี้ คือดวงดาวในค่ำคืนปัจจุบัน บนฟากฟ้าฤดูหนาว ฤดูกาลที่สามารถดูดาวได้ดีที่สุดเพราะโดยส่วนมากท้องฟ้าจะโปร่งไม่มีหมู่เมฆมาบดบัง และท้องฟ้าจะมืดเร็ว ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้า”
การแสดง “ดาวเสาร์” ชัดเจนเหมือนได้ไปดูใกล้ๆ
ดาวกลุ่มแรกที่ท่านวิทยากรเอ่ยถึงนั้น เป็นกลุ่มดาวที่ฉันรู้จักชื่อเป็นอย่างดี นั้นคือ “กลุ่มดาวลูกไก่” กลุ่มดาวที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ โดยมีลักษณะเป็นกระจุกดาว มีชื่อมากมายที่เรียกใช้ อาทิ กระจุกดาวไพลยาดีส , ดาวพี่น้องทั้งเจ็ด,หรือวัตถุเมสสิเยร์ M45 โดยกระจุกดาวนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์สีน้ำเงินที่มีอายุราว 100 ล้านปี แต่ละดวงตั้งชื่อตามไพลยาดีส หญิงสาวพี่น้องเจ็ดคนในเทพปกรณัมกรีก ได้แก่ อัลไซโอนี แอตลัส อิเลกตรา มายา ไมโรพี ไทยิตตา ไพลยานี เซลีโน และแอสไตโรพี
สารคดีเรื่อง “มหัศจรรย์แห่งออโรรา”
หลังจากนั้นฉันก็ได้รู้จักกับ “กลุ่มดาวนายพราน” หรือชื่อที่ฉันคุ้นเคย “ดาวไถ” ดวงดาว 3 ดวงที่เรียงกันอยู่นั้นประดับฟากฟ้ามานานแสนนานในจุดนั้นคือเข็มขัดของนายพราน และดวงดาวที่รายล้อมอยู่นั้นคือตัวของนายพราน โดยถือว่าเป็นกลุ่มดาวที่ดูได้ชัดเจนมากในฤดูหนาว
“มหัศจรรย์แห่งออโรรา”
หลังจากนั้นท่านวิทยากรก็ได้บรรยายปรากฏการณ์บนฟากฟ้ายามค่ำคืนของฤดูหนาว ให้ได้รู้อีกมากมาย อาทิ ในเดือนมกราคมของฤดูหนาวนี้เราจะสามารถเห็นปรากฏการณ์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัส ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ เรียงตัวกันได้ในช่วงเช้ามืด ซึ่งท่านวิทยากรก็ได้พาไปทำความรู้จักกับดวงดาวทั้ง 5 อีกด้วย
10   “ออโรรา” บางครั้งจะเรียกว่า “แสงเหนือ-แสงใต้”
ดาวที่ฉันชอบที่สุดก็คงจะเป็น “ดาวเสาร์” เพราะมีเอกลักษณ์เด่นคือวงแหวนอันงดงาม ระหว่างที่ท่านวิทยากรอธิบายข้อมูลของดาวเสาร์ให้ได้ฟังอยู่นั้น ท้องฟ้าบนโดมก็เปลี่ยนเป็นภาพดาวเสาร์ขนาดใหญ่ที่วาดวงแหวนเป็นแนวระนาบ ทำเอาฉันตื่นตาตื่นใจเหมือนได้ไปอยู่ใกล้ๆ กับดาวเสาร์จริงๆ ซึ่งฉันก็ได้รู้มาว่า ดาวดวงนี้ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 6 ที่ระยะทาง 1,433 ล้านกิโลเมตร จัดเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในระบบสุริยะรองจากดาวพฤหัสบดี วงแหวนที่เป็นเอกลักษณ์นั้น ประกอบไปด้วยก้อนหินฝุ่นละอองที่มีน้ำแข็งปะปน
“นิทรรศการระบบสุริยะ” ภายในอาคารท้องฟ้าจำลอง
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ท้องฟ้าจำลองยังได้มีการนำสารคดีเดี่ยวกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้ามาจัดแสดงให้ชมกันอีกด้วย โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในแค่ละเดือนไม่ซ้ำกัน ซึ่งในเดือนมกราคมนี้ ฉันได้มีโอกาสชมสารคดีเรื่อง “มหัศจรรย์แห่งออโรรา” แม้ประเทศไทยจะไม่มีแสงออโรราให้ได้ชม แต่ที่ท้องฟ้าจำลองกลับมีให้ชมและสวยงามสมจริงอย่างมาก ทำให้ฉันได้รู้ว่า “ออโรรา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากลมสุริยะปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก จนเป็นแสงท้องฟ้าในเวลากลางคืน มักจะขึ้นในบริเวณแถบขั้วโลก โดยบางครั้งจะเรียกว่า แสงเหนือ หรือ แสงใต้ ”
นิทรรศการสำรวจอวกาศ” ภายในอาคารท้องฟ้าจำลอง
หลังจากดูการแสดงภายในห้องโดมเสร็จแล้ว ฉันก็มาเดินชมนิทรรศการที่บริเวณโดยรอบห้องเพิ่มเติมอีก ในจุดนี้จุดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวในระบบสุริยะ จักวาล และเทคโนโลยีที่มนุษย์ได้พัฒนาเพื่อไปสำรวจเอกภพให้ได้ชมและเรียนรู้ และที่บริเวณด้านหน้าอาคารก็ยังมีการจำลอง “ยานอพอลโล 11” ยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนผิวของดวงจันทร์สำเร็จให้ได้ชมกันอีกด้วย
อาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
การมาเที่ยวท้องฟ้าจำลองในครั้งนี้ของฉัน สามารถตอบคำถามบนฟากฟ้าที่สงสัยได้ และสามารถชมดวงดาวอย่างใกล้จริงๆ ใครที่หลงในมนต์เสน่ห์อันงดงามของดวงดาวบนฟ้ายามราตรีแล้ว ก็ไม่ควรพลาดมาชมดวงดารางดงามที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพโดยเด็ดขาด
“ยานอพอลโล 11 จำลอง”
******
ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เปิดบริการ : วันอังคาร-วันอาทิตย์ ปิด : วันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ราคาบัตรเข้าชม เด็ก 20 บาท / ผู้ใหญ่ 30 บาท
รอบการแสดงของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ วันอังคาร- ศุกร์ : รอบ 11.00 น. และ 14.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์ : รอบ 11.00 น. และ 13.00 น.
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 2, 25, 38, 40, 72, 501, 511, 513, 508. หรือจะเดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีเอกมัย ออกประตู 3 เดินมาได้ไม่ไกลมาก

* * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น