มส.ผส. เสนอ 3 รูปแบบจ้าง “แรงงานสูงวัย” ทั้งจ้างงานแบบปีต่อปีหลังอายุ 55 ปี อยู่ในระบบประกันสังคมตามเดิม ลาออกหลังเกษียณรับเงินชดเชยเลิกจ้างและบำเหน็จชราภาพก่อนจ้างงานใหม่ และกำหนดอายุเกษียณมากกว่า 55 ปี สำหรับลูกจ้างรายใหม่ ชี้ก่อนอายุ 60 ปี หากยังทำงานต่อ ไม่มีสิทธิรับบำนาญ ด้าน สสส. ร่วมสถานประกอบการ 13 แห่ง นำร่องจ้างงานสูงอายุผ่าน 3 รูปแบบ
วันนี้ (22 ส.ค.) นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ คนที่ 2 กล่าวในงานเวทีขับเคลื่อนนโยบาย “ขยายอายุการจ้างงาน : คุณค่าต่อสังคมไทย” ว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยคาดว่า ปี 2564 จะมีประชากรสูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 28 สถานการณ์เหล่านี้จะนำมาสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะการส่งเสริม หรือการสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงานต่อไปอย่างเหมาะสมหลังเกษียณ เป็นการส่งเสริมคุณค่าผู้สูงอายุ สร้างหลักประกันด้านรายได้ผู้สูงอายุ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งจากการสำรวจประชากรสูงอายุในปี 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุจำนวน 10 ล้านคน มีร้อยละ 38.4 เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ และผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60 - 69 ปี จำนวนร้อยละ 24.9 มีความต้องการที่จะทำงาน แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมีศักยภาพ มีส่วนร่วมในการทำงาน ต้องการอยู่ในตลาดแรงงาน ซึ่งช่วยลดภาระพึ่งพิง เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จากการศึกษาได้ข้อเสนอรูปแบบการขยายการจ้างงานแรงงานสูงวัย 3 รูปแบบ คือ 1. ขยายอายุการเกษียณจากเดิม 55 ปีบริบูรณ์ เป็นการต่อสัญญาทำงานต่อแบบปีต่อปี ที่ลูกจ้างยังอยู่ในระบบประกันสังคม 2. การจ้างงานเข้ามาใหม่หลังอายุเกษียณ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์หรือเงินชดเชยต่างๆ จากการลาออกทั้งหมด เช่น ค่าชดเชยการเลิกจ้าง เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิชราภาพจากประกันสังคมแบบบำเหน็จหรือบำนาญ แต่เมื่อกลับเข้ามาทำงานในระบบใหม่ ลูกจ้างจะต้องสมัครเข้าระบบประกันสังคมอีกครั้ง โดยเริ่มนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบใหม่ และ 3. การขยายอายุเกษียณเป็นการทั่วไปของบริษัท เป็นอายุมากกว่า 55 ปี โดยเป็นเงื่อนไขในการทำงานใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขยับอายุการเกษียณสำหรับแรงงานที่อายุยังไม่มากได้ เพื่อลดผลกระทบจากการวางแผนของรงงานในแต่ละช่วงวัย เช่น หากเป็นแรงงานใหม่อาจกำหนดอายุการเกษียณที่ 60 ปี ไว้ในเงื่อนไขการจ้างงานตั้งแต่ต้น ขณะที่แรงงานเก่าให้เป็นไปตามความสมัครใจ
“ในส่วนของเงินสำรองเลี้ยงชีพของทั้ง 3 รูปแบบนั้นเหมือนกัน คือ เป็นภาคสมัครใจ ดังนั้น จะสะสมหรือไม่สะสมต่อเนื่องก็เป็นไปตามนโยบายของแต่ละสถานประกอบการ ทั้งนี้ แต่ละสถานประกอบการสามารถเลือกแต่ละรูปแบบให้เหมาะสมกับองค์กรตัวเองได้ และควรยึดมาตรฐานแนวทางปฏิบัติที่ดี เช่น ประกาศแนวทางในการจ้างแรงงานสูงอายุที่ชัดเจน จัดทำปฏิทินการดำเนินการในแต่ละปี เช่น ช่วงเวลาเปิดรับสมัครแรงงานที่ต้องการขยายอายุแรงงาน เงื่อนไขและรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อให้แรงงานสูงอายุที่ต้องการทำงานสามารถวางแผนต่อได้” พญ.ลัดดา กล่าว
นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขยายอายุการทำงานหรืออายุเกษียณ ต้องอาศัยเวลา ดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระทบสิทธิลูกจ้าง โดยต้องสร้างความตระหนักรู้และการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สสส.จึงร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กระทรวงแรงงาน กรมกิจการผู้สูงอายุ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ดำเนินโครงการนำร่องการขยายอายุการจ้างงานแรงงานสูงวัยในสถานประกอบการจำนวน 13 แห่ง โดยให้แต่ละสถานประกอบการเลือกว่าจะใช้รูปแบบใดในการขยายการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นต้นในการดำเนินงาน เพื่อศึกษาว่ามีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรหรือไม่ โดยผลสรุปยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา อย่างไรก็ตาม การขยายอายุการทำงานเป็นการส่งเสริมรายได้กับแรงงานสูงวัย เพิ่มความมั่นคงทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดภาระและการพึ่งพิงครอบครัวและสังคมได้ และสอดคล้องนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
เมื่อถามถึงการรับเงินชดเชยหลังเกษียณและเงินบำนาญชราภาพ หากมีการขยายอายุการจ้างงาน รศ.ภก.สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล มส.ผส. กล่าวว่า ข้อเสนอรูปแบบที่ 1 และ 2 เป็นการตกลงระหว่างบริษัทและลูกจ้าง ว่าจะขยายอายุการจ้างงานอย่างไร ซึ่งการรับเงินชดเชยหลังเกษียณก็อยู่ที่แต่ละบริษัทกำหนดว่า อายุเกษียณเป็นเท่าไร เช่น อายุ 55 ปี เมื่อลาออกจากบริษัทก็มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามอัตราที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่กำหนด ซึ่งรูปแบบที่ 1 ยังไม่ลาออก แต่รูปแบบที่สองลาออกแล้วกลับเข้ามาใหม่ก็จะมสิทธิได้รับเงินตรงนี้ก่อน เป็นต้น ส่วนเรื่องรับเงินบำนาญชราภาพนั้น หากยังอยู่ในระบบประกันสังคมก็ยังสะสมต่อไปตามข้อกำหนดของประกันสังคม แต่หากลาออกก็จะได้รับเงินตามข้อกำหนด เช่น สะสมไม่เกิน 180 เดือน ได้รับบำเหน็จเป็นเงินก้อน แต่หากเกิน 180 เดือนจะได้สิทธิรับเงินบำนาญ แต่ที่ต้องคำนึงคือ การจ้างงานอายุ 15 - 60 ปี ต้องเข้าระบบประกันสังคม ดังนั้น เมื่อรับเงินบำนาญแล้ว หากจะกลับเข้ามาทำงานเมื่ออายุไม่ถึง 60 ปี ก็ต้องเข้าระบบประกันสังคมใหม่ การรับบำนาญก็จะหยุดเพื่อสะสมใหม่ เรียกว่า หากทำงานอยู่ในระบบประกันสังคมจะไม่มีการจ่ายเงินบำนาญ แต่หากหลังอายุ 60 ปีไม่ต้องเข้าประกันสังคมแล้ว ก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญต่อไปและทำงานต่อไปได้ ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นการกำหนดเงื่อนไขกับลูกจ้างรายใหม่