xs
xsm
sm
md
lg

สาธิตจุฬาฯ-ญี่ปุ่นจับมือเป็น “ร.ร.พี่น้อง” จัดห้องเรียนร่วมดนตรี-ศิลปะผ่านสไกป์ ส่ง นร.แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ลงนามร่วมเมืองโคเกะ ประเทศญี่ปุ่น จัดโครงการโรงเรียนพี่น้อง ส่งนักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างวัฒนธรรม เล็งจัดห้องเรียนร่วมไทย-ญี่ปุ่นวิชาดนตรีและศิลปะผ่านการสไกป์และทีวีคอนเฟอเรนซ์ พร้อมศึกษาการเรียนรู้นอกห้องเรียนของญี่ปุ่น

วันนี้ (21 ส.ค.) เมื่อเวลา 07.30 น. ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม นายชูสุเกะ สึโบเนะ (Shusuke Tsubone) นายกเทศมนตรีเมืองโคเกะ จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเมืองโคเกะและคณะนักเรียนประเทศญี่ปุ่น เดินทางมายัง ร.ร.สาธิตจุฬาฯ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น และลงนามสัญญาความร่วมมือโครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister School) ระหว่างเมืองโคเกะ และ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ โดยมีผู้แทนนักเรียนและนักเรียนคู่แลกเปลี่ยนมอบพวงมาลัยคณะผู้บริหารและนักเรียนญี่ปุ่น โดยช่วงเวลา 08.00 น. มีการเคารพธงชาติและสวดมนต์ พร้อมกับชักธงชาติไทยและธงชาติญี่ปุ่นขึ้นสู่ยอดเสา และแสดงนาฏศิลป์ไทย-ญี่ปุ่นต้อนรับ

ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ผศ.ทินกร บัวพูล ผู้อำนวยการ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และนายชูสุเกะ สึโบเนะ นายกเทศมนตรีเมืองโคเกะ จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือโครงการโรงเรียนพี่น้อง สาธิตจุฬาฯ-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสัญญาความร่วมมือ 5 ปี

ผศ.ทินกรกล่าวว่า กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเมืองโคเกะ ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2558 โดยมีการส่งนักเรียนระดับประถมศึกษาของ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่โรงเรียนประถมศึกษาในเมืองโคเกะ 4 แห่งแล้วจำนวน 2 ครั้ง โดยปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างกันมากขึ้น ส่วนการลงนามในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการของโครงการโรงเรียนพี่น้องฯ ซึ่งนอกจากจะส่งนักเรียนมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่อกันแล้ว กิจกรรมที่จะขยายต่อไปคือ การจัดห้องเรียนร่วมกันระหว่างนักเรียนสาธิตจุฬาฯ และนักเรียนญี่ปุ่นของเมืองโคเกะ โดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เช่น การสไกป์ (Skype) หรือทีวีคอนเฟอเรนซ์ ในการสื่อสารและจัดการเรียนการสอนร่วมกัน โดยตั้งเป้าให้เป็นวิชาดนตรีและศิลปะ เพราะมองว่ามีความเข้าใจกันง่ายในการเรียนและการสื่อสาร

“นอกจากนี้ยังจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนในส่วนของการแข่งกีฬาและนาฏศิลป์ด้วย ซึ่งหากโรงเรียนที่ญี่ปุ่นมีการจัดกิจกรรมกีฬาก็พร้อมจะส่งนักเรียนเข้าร่วมหรือมีความต้องการการจัดการแสดงก็พร้อมส่งนักเรียนไปเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมด้วย ขณะเดียวกันก็พร้อมที่นักเรียนจากญี่ปุ่นมาแลกเปลี่ยนที่ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ด้วย” ผศ.ทินกรกล่าว

เมื่อถามถึงการเรียนการสอนของไทยที่เน้นการเรียนในห้องเรียน แต่ญี่ปุ่นเน้นกิจกรรมนอกห้องเรียนแบบ Active Play จะมีการนำมาปรับใช้อย่างไรหรือไม่ ผศ.ทินกรกล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้านการศึกษา อย่างตอนนี้เรารู้ว่า ร.ร.มีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร แต่ยังไม่รู้ว่าการจัดการเรียนการสอนของญี่ปุ่นเป็นแบบไหน อย่างเด็กไทยก็มักจะไปเรียนนอกเวลาตามที่ต่างๆ แต่เด็กญี่ปุ่นการเรียนรู้นอกห้องของเขาเป็นอย่างไรเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นการเรียนรู้เองตามธรรมชาติ การเรียนรู้ในบ้านตัวเองหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งในการแลกเปลี่ยนนักเรียนซึ่งมีการส่งครูไปดูแลเด็กนักเรียนด้วยนั้น ก็อาจจะต้องให้ไปศึกษาตรงนี้เพิ่มเติมว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา จะได้นำมาปรับหรือประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้เข้ากับบริบทของไทยได้มากขึ้น แต่จริงๆ แล้วนักเรียน ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ก็ถือว่ามีการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เรียกว่าค่อนข้างเยอะเหมือนกัน

ด้านนายชูสุเกะ สึโบเนะ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามสัญญาโครงการความร่วมมือโรงเรียนพี่น้องกับ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และปีนี้ถือเป็นปีที่ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่นครบรอบ 130 ปีด้วย ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนานของทั้งสองประเทศ ซึ่งกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน มีนักเรียนประถมศึกษาจากเมืองโคเกะมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ประเทศไทยแล้วรวม 49 คน ซึ่งนอกจากนักเรียนจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างและการใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันให้เด็กๆ พยายามพัฒนาตนเองทำวันพรุ่งนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยหวังว่าจะมีกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กของเราโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในอนาคต






















กำลังโหลดความคิดเห็น