xs
xsm
sm
md
lg

นักเรียนญี่ปุ่นสุด “เจี๋ยมเจี้ยม” ความกระตือรือล้นแพ้เด็กจีน,เกาหลี,สหรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลการวิจัยเรื่องพฤติกรรมในโรงเรียนของนักเรียนมัธยมปลายพบว่า นักเรียนญี่ปุ่นไม่สนใจตั้งคำถาม ไม่ค้นคว้านอกห้องเรียน ขาดความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนความซบเซาของแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อเทียบกับนักเรียนจีน,เกาหลี,สหรัฐ

สถาบันแห่งชาติเพื่อการศึกษาของเยาวชน ซึ่งเป็นองค์การอิสระที่วิจัยเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียน เปิดเผยผลการวิจัยเปรียบเทียบพฤติกรรมของนักเรียนมัธยมปลาย 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐ โดยหัวข้อเรื่อง “การตั้งคำถามและค้นคว้าหาคำตอบ” นักเรียนญี่ปุ่นทำเพียง 12.3% มากกว่านักเรียนเกาหลีที่ฟังครูอย่างเดียว ตั้งคำถามเพียงแค่ 10.4% ขณะที่นักเรียนชาวจีนสนใจตั้งคำถามและหาตำตอบมากถึง 52.7 % ส่วนนักเรียนอเมริกัน 34.5% กระตือรือล้นในการตั้งคำถามในชั้นเรียน

หัวข้อเรื่อง “พยายามใช้วิธีการที่แตกต่างจากที่เรียนในโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา” นักเรียนญี่ปุ่นทำเพียง 7.5% ขณะที่นักเรียนสหรัฐสร้างสรรค์ที่สุดถึง 45.8 % ตามมาด้วยนักเรียนจีน 25.9% และนักเรียนเกาหลีใต้ 10.4%

หัวข้อเรื่อง “กล้าแสดงออกในชั้นเรียน” นักเรียนญี่ปุ่นก็รั้งท้ายด้วยสัดส่วนเพียง 3.7% โดยนักเรียนชาวจีนกล้าแสดงออกในชั้นเรียนมากที่สุด ตามมาด้วยนักเรียนเกาหลีใต้ และสหรัฐ

ผลการวิจัยยังพบว่า นักเรียนญี่ปุ่น 24.2% บอกว่า เมื่อเลิกเรียนแล้วก็ “ไม่ทบทวนความรู้หรือค้นคว้าเพิ่มเติม” ซึ่งสูงที่สุดในบรรดานักเรียน 4 ประเทศ

นอกจากนี้นักเรียนญี่ปุ่น 69.3% ยังบอกว่า จะเตรียมตัวเมื่อ “ไฟลนก้น” คือทบทวนตำราในคืนก่อนก่อนสอบ

นอกจากเด็กนักเรียนชาวญี่ปุ่นไม่กระตือรือล้นในการเรียนแล้ว ยังไม่ “มุ่งมั่นสร้างอนาคต” โดยนักเรียนเพียง 5.6% บอกว่าอยากเป็นใหญ่เป็นโต เมื่อเทียบกับนักเรียนสหรัฐ 50.8% มุ่งมั่นจะเป็นผู้นำ นักเรียนจีน 24.7 % และนักเรียนเกาหลี 18.9%

นักเรียนญี่ปุ่นในวันนี้ทั้งไม่คาดหวังจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และมีสถานะโดดเด่นทางสังคม แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนักเรียนชาวจีน,สหรัฐ และเกาหลีใต้ ที่มุ่งมั่นจะก้าวหน้าโดดเด่นในวงสังคมและการงาน
เด็กรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นถูกวิจารณ๋ว่า เล่น มากกว่า เรียน
นักวิจัยในโครงการนี้ระบุว่า นักเรียนมัธยมญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะยอมรับในสิ่งที่ครูอาจารย์สอน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่คิดนอกกรอบ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ นักเรียนส่วนใหญ่คิดเพียงแต่เรียนให้จบๆไป แล้วก็ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่กระตือรือล้นหาความก้าวหน้าในชีวิต

พฤติกรรมเช่นนี้มีสาเหตุจากค่านิยมดั้งเดิมแบบ “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” ของญี่ปุ่น ที่มองว่าการโต้แย้งผู้ใหญ่ หรือทำตัวโดดเด่นจากกลุ่มเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และในอีกมุมหนึ่งเศรษฐกิจที่ตกต่ำมานานกว่า 10 ปีก็ทำให้คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นมองไม่เห็นความก้าวหน้าในชีวิต.
กำลังโหลดความคิดเห็น