xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจพบนร.ญี่ปุ่นไม่มีความสุข เด็กไทยสุดชิลล์ แม้ผลการเรียนตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลการสำรวจระหว่างประเทศพบว่าเยาวชนญี่ปุ่นอายุ 15 ปี มีความพึงพอใจในชีวิตของตนเองน้อยกว่าเยาวชนในประเทศอื่นๆ จำนวนมาก ขณะที่เด็กไทยพึงพอใจในชีวิตมากกว่า ถึงแม้ผลการเรียนจะต่ำกว่าประเทศอื่น

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD จัดการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของบรรดาเด็กวัยรุ่น การสำรวจนี้ได้สอบถามเยาวชนวัย 15 ปีจำนวน 540,000 คนใน 72 ประเทศและดินแดน มีนักเรียนโรงเรียนมัธยมปลายญี่ปุ่นราว 6,600 คนเข้าร่วมในการสำรวจนี้

การสำรวจดำเนินการตั้งแต่ปี 2015 และประกาศผลเมื่อเดือนเมษายน ปี 2017 โดยนักเรียนญี่ปุ่นมีผลการเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ในทุกด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน และศักยภาพในการเรียนอยู่ในระดับเกือบสูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศทั้งหมด

แต่ข้อด้อยของนักเรียนญี่ปุ่น คือ ความเท่าเทียมระหว่างนักเรียนผู้ชายและนักเรียนหญิงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD โดยนักเรียนชายของญี่ปุ่นมีผลการเรียนที่ดีกว่านักเรียนหญิงอย่างมาก

ปัญหาใหญ่ของนักเรียนญี่ปุ่น คือ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่บอกว่าไม่พึงพอใจในชีวิตของตนเอง โดยการสำรวจให้นักเรียนประเมินความพึงพอใจในชีวิตโดยใช้มาตรวัดจาก 0 ถึง 10 โดยนักเรียนญี่ปุ่นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.8 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของนานาชาติอยู่ที่ 7.3 ความพึงพอใจในชีวิตของนักเรียนญี่ปุ่นยังรั้งท้ายในอยู่ในอันดับที่ 43 จากทั้งหมด 47 ประเทศและดินแดนที่เข้าร่วมการสำรวจ

ผลการสำรวจชี้ว่าเด็กในกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกามีค่าความพึงพอใจสูงกว่า โดยเด็กจากสาธารณรัฐโดมินิกันมีความพึงพอใจสูงที่สุดที่ 8.5 ตามด้วยเด็กจากเม็กซิโกที่ 8.3

สื่อมวลชนญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่นักเรียนญี่ปุ่นไม่มีความสุขในชีวิต เพราะการเรียนเคร่งเครียดมาก นักเรียนต้องแข่งขันอยู่ตลอดเวลา การทดสอบมีมากเกินไป นักเรียนญี่ปุ่นมีการบ้านแม้แต่ในช่วงปิดเทอม และนักเรียนมัธยมปลายเกือบทั้งหมดต้องไปเรียนกวดวิชาเพื่อให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆได้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ตกต่ำต่อเนื่องหลายสิบปี ทำให้นักเรียนญี่ปุ่นคิดว่า “เรียนไปก็เท่านั้น” คือ ไม่มีความหวังว่าการศึกษาจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะเมื่อเรียนจบก็หางานที่มั่นคงได้ยาก บริษัทต่างๆ ล้วนแต่เผชิญความยากลำบากทางการเงิน และใช้การจ้างลูกจ้างชั่วคราวหรือสัญญาจ้าง แทนที่จะจ้างพนักงานประจำ
ผลการเรียนวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ และการอ่านของเด็กไทยเทียบกับญี่ปุ่น
เทียบศักยภาพและความสุขของนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น

จากรายงานของOECD พบว่า ศักยภาพด้านการเรียนของเด็กไทยด้อยกว่าค่าเฉลี่ยในทุกด้านทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยเฉพาะเรื่องการอ่าน เด็กไทยตกต่ำลงมากนับตั้งแต่การสำรวจเมื่อปี 2006

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของ “ความเท่าเทียม” เด็กไทยมีมาตรฐานที่ดี คือ ระหว่างนักเรียนชาย-หญิง หรือไม่ว่าจะมีภูมิหลังทางสังคมหรือฐานะอย่างไร เด็กไทยค่อนข้างจะเท่าเทียมกันเมื่ออยู่ในโรงเรียน
ความเท่าเทียมทางสังคมของนักเรียนไทยเทียบกับญี่ปุ่น
ถึงแม้ศักยภาพในการเรียนของเด็กไทยจะแพ้เด็กญี่ปุ่นอย่างไม่เห็นฝุ่น แต่เด็กไทยกลับมีความพึงพอใจในชีวิต และมีความสุขที่โรงเรียนมากกว่า โดยเกณฑ์วัดผลของ OECD เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครู, สภาพแวดล้อมทางครอบครัว และการใช้เวลาว่าง

เด็กนักเรียนไทยเมื่อเทียบกับนักเรียนญี่ปุ่นแล้ว รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร, การรังแกกลั่นแกล้งในโรงเรียนน้อยกว่า, มีความเครียดเรื่องการบ้านน้อยกว่า และปมด้อยเรื่องความแตกต่างทางฐานะก็น้อยกว่าเช่นกัน
ความพึงพอใจในชีวิตของนักเรียนไทยเทียบกับญี่ปุ่น
OECD ยังเตือนว่า ยุคดิจิตอลสร้างปัญหาเรื่อง “การใช้อินเตอร์เน็ตมากเกินไป” กับเด็กนักเรียน โดยนักเรียนมากกว่า 1 ใน4 ของที่ทำการสำรวจ ระบุว่า ใช้เวลากับโลกออนไลน์มากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน การใช้อินเตอร์เน็ตที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้ศักยภาพในการเรียนด้อยลงแล้ว ยังทำให้เด็กขาดการมีส่วนร่วมในสังคม รู้สึกโดดเดี่ยว มาโรงเรียนสายบ่อย และอาจทำให้ไม่มีความสุขกับการเรียน หรือไม่อยากเรียนหนังสือต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น