xs
xsm
sm
md
lg

คร.เผย ร.ร.กทม.หยุดเรียนจาก “หวัดใหญ่” แล้ว 3-4 แห่ง ผู้เชี่ยวชาญห่วง “เชื้อ” พัฒนาตัวหนีวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
ร.ร.สาธิตจุฬาฯ เตรียมเปิดเรียน 8 ก.พ. พร้อมตรวจคัดกรอง “ไข้” ก่อนเข้าเรียน ด้าน กรมควบคุมโรค เผย ร.ร. ใน กทม. ประกาศหยุดเรียนแล้วประมาณ 3 - 4 แห่ง ต่างจังหวัดอีก 1 - 2 แห่ง บางแห่งเปิดเรียนตามปกติแล้ว ผู้เชี่ยวชาญไวรัสห่วง “เชื้อหวัดใหญ่” พัฒนาตัวหนีวัคซีน ทำป้องกันไม่ได้ผลมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมศึกษา ที่มีการประกาศหยุดเรียนวันที่ 6 - 7 ก.พ. 2560 เนื่องจากพบนักเรียนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก ขณะนี้มีรายงานว่า โรงเรียนจะมีการเปิดการเรียนการสอนตามปกติในวันที่ 8 ก.พ. 2560 ยกเว้นระดับชั้นอนุบาล 1 และระดับชั้น ป.1 ให้ปิดการเรียนการสอนอีก 1 วัน และให้มาเรียนตามปกติในวันที่ 9 ก.พ. 2560 อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เบื้องต้น ยังไม่มีคำสั่งให้หยุดเรียนเพิ่มเติมดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ในวันที่ 8 ก.พ. 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดเรียนตามปกตินั้น จะมีการตรวจคัดกรองอาการไข้ของนักเรียนก่อนเข้าเรียนด้วย

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ระบาดล่าสุด ทราบว่า โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ได้ประกาศหยุดการเรียนการสอนเป็นเวลา 2 วัน คือ วันที่ 6 - 7 ก.พ. 2560 เนื่องจากพบมีนักเรียนป่วยจำนวนมากนั้น ในส่วนของ สพฐ. ยังไม่มีรายงานว่า พบโรงเรียนใดมีนักเรียนป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ จนต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว ซึ่งตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ตนได้มีหนังสือเวียนแจ้งไปยังสถานศึกษาทุกแห่งให้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงอากาศหนาวโดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม จากนี้หากมีการประกาศหรือมาตรการป้องกันใดจากกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในเรื่องดังกล่าวจะแจ้งไปยังสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งเพื่อรับทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเร็ว

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การปิดโรงเรียนเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ให้แพร่กระจาย แต่ที่ดีที่สุดคือ หากพบว่าลูกหลานเริ่มมีอาการไข้ พ่อแม่ควรให้หยุดเรียนทันที หรือหากโรงเรียนพบว่าเด็กนักเรียนมีอาการไข้ แม้จะไข้ต่ำๆ ก็ควรแจ้งผู้ปกครองและให้หยุดพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น ดีกว่ามีการติดต่อไปยังเด็กอื่นๆ จนต้องปิดโรงเรียน อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วการพบเชื้อไข้หวัดใหญ่มากขึ้นในปีนี้ เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่ง คร. ได้ประกาศเตือนแนวโน้มโรคที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2560 คือ โรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากพบมากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปิดโรงเรียนมีเกณฑ์พิจารณาหรือไม่ว่าต้องมีนักเรียนป่วยกี่คน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีตัวเลขสากล แต่เมื่อครั้งเกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 จะใช้วิธีพิจารณาว่า หากเด็กนักเรียนในห้องขาดเรียนไปประมาณร้อยละ 10 - 20 เช่น ในห้องเรียนมีนักเรียน 40 คน แต่เด็กหายไป 15 คนก็ถือว่าต้องสั่งหยุดเรียนชั่วคราว ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ต้องการให้ถึงขั้นนี้ เพราะโรคนี้ป้องกันได้ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการลูก หากมีไข้ก็ควรให้หยุดเรียน แต่ที่ผ่านมา พ่อแม่ไม่ค่อยอยากให้หยุดเรียน เนื่องจากเด็กเองอาจห่วงเรียน หรือพ่อแม่ไม่สะดวกในการให้เด็กอยู่บ้านคนเดียว เพราะต้องไปทำงาน เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้หากคิดดีๆ จะพบว่า หากมีอาการไข้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแค่โรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีโรคไข้เลือดออก มือเท้าปาก อย่างไข้เลือดออก หากมาโรงเรียน มียุงไปกัด และแพร่กระจายไปยังเด็กอื่นๆ ก็เกิดการระบาดได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับรายงานหรือไม่ว่า มีโรงเรียนกี่แห่งต้องปิดเรียนชั่วคราว นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ใน กทม. ทราบว่า มีประมาณ 3 - 4 แห่ง ส่วนภูมิภาคมีประมาณ 1 - 2 แห่ง ซึ่งหลายแห่งเปิดเรียนตามปกติแล้ว และไม่ใช่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐอย่างเดียว โรงเรียนเอกชนก็ต้องเฝ้าระวังด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น จะมีการฉีดให้ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกประมาณเดือนเมษายน และช่วงที่สอง คือ ช่วงเดือนตุลาคม จริงๆ แล้วจะฉีดช่วงไหนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ

ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยตอนนี้ถือว่าไม่ได้มีความแตกต่างจากการระบาดในปีที่ผ่านๆ มา เช่นเดียวกับเรื่องความรุนแรงของตัวโรคนั้นจริงๆ ไข้หวัดใหญ่เองไม่ได้รุนแรงเหมือนกับโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ไข้หวัดนก เป็นต้น แต่ไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นในกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะอายุครรภ์มากๆ และคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่

นพ.ยง กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย มักมีการระบาดใหญ่ช่วงหน้าฝน คือ มิ.ย.- ก.ค. แล้วค่อยมาระบาดเล็กๆ อีกครั้งในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงควรฉีดช่วงก่อนเข้าหน้าฝน ประมาณเดือน พ.ค. หรือก่อนเปิดเทอม ทั้งนี้ ปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศส่วนมากเป็น H3N2 ซึ่งวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันโรคนั้นถือว่ามีความครอบคลุมเรื่องการป้องกันโรคได้ แต่ก็ไม่ 100% เพราะอย่างปีที่แล้วก็ฉีดวัคซีนตัวนี้ แต่ก็ยังพบคนป่วยไข้หวัดใหญ่อยู่ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เชื้อไวรัสจะมีการพัฒนาตัวเองออกห่างจากวัคซีนที่ใช้อยู่ไปเรื่อยๆ แต่ประเทศไทยก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้ผลิตวัคซีนเอง เรานำเข้ามา ซึ่งการกำหนดการผลิตวัคซีนแต่ละปีจะป้องกันสายพันธุ์ใดบ้างนั้นอยู่ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดโดยดูจากตัวที่ใกล้เคียงการระบาด

“แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขอนามัยส่วนตัว คือ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือ และสิ่งสำคัญคือ การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคสู่ผู้อื่น โดยหลักการสวมที่ถูกต้องคือเอาด้านจะเอาสีเข้ม หรือด้านเนื้อละเอียดกว่าอยู่ด้านนอก มีโลหะอยู่ด้านบนสันจมูก กดโลหะให้แนบจมูกให้สนิท ใช้แต่ละอันไม่เกิน 1 วัน ไม่เอามือจับหน้ากาก มาจับใบหน้า จับแล้วต้องล้างมือทุกครั้ง” นพ.ยง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น